นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดให้มีการจัดงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566ในระหว่างวันที่ 27 มกราคม -4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงมะขามหวานของดีของจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพทางการเกษตรด้วยการประกวดพืชผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ การส่งเสริมสินค้า OTOP ของจังหวัดเพชรบูรณ์
เนื่องจาก จ.เพชรบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกมะขามหวานเป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่ 11 อำเภอมากถึง 109,849 ไร่ มีผู้ประกอบการเป็นเกษตรกรชาวสวนมะขามหวานประมาณ 12,943ราย ผลผลิตต่อปี 52,215 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,412 ล้านบาท ซึ่งงานนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้ชม ได้ชิม ได้เลือกซื้อมะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นของกินของฝากอย่างเต็มที่
โดยในวันเปิดงาน นอกจากจะมีขบวนแห่รถบุปผาชาติ พร้อมธิดามะขามหวานที่สวยงามตระการตา
แล้ว ภายในงานมีการประกวดผลผลิตมะขามหวานสายพันธุ์ต่างๆได้แก่พันธุ์ประกายทอง พันธุ์สีชมพู พันธุ์สีทอง พันธุ์ขันติ และพันธุ์อื่นๆ การประกวดสุดยอดมะขามหวาน ประจำปี 2566 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดขบวนแห่รถมะขามหวาน ประกวดธิดามะขามหวาน ประกวดนางสาวนครบาล การจัดนิทรรศการแสดงผลงานความก้าวหน้า การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลของหน่วยงานส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ การออกร้านของภาคเอกชน การจำหน่ายสินค้า OTOP การจัดตลาดนัดมะขามหวานและพืชผลทางการเกษตรและพันธุ์ไม้ กิจกรรมลานวัฒนธรรมและคอนเสริต์ศิลปินชื่อดัง เที่ยวฟรี ชมฟรี เฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปีการจัดงานมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์
สำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์ มีมะขามหวานพันธุ์ที่มีชื่อเสียง หลากหลายสายพันธุ์ ในอดีตจนถึงปัจจุบันมะขามหวานพันธุ์ประกายทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพันธุ์ “ตาแป๊ะ” เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมชมชอบของนักกินมาโดยตลอด นอกจากนั้นยังมีพันธุ์สีทอง(นายหยัด) พันธุ์ศรีชมภู พันธุ์ขันตี และพันธุ์อื่นๆ รวมถึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีกหลาย สายพันธุ์ อาทิเช่น พันธุ์เพชรซับเปิปที่มีเนื้อมาก เนื้อเหนียวนุ่มหนึบ มีรสชาติหวานหอมเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มะขามหวานพันธุ์เพชรอัมพร ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทสายพันธุ์อื่นๆ 2 ปีติดต่อกัน โดยพันธุ์เพชรอัมพรฝักใหญ่ เรียวยาวโดยมีความยาวประมาณ 15 – 20 ซม.ฝักค่อนข้างตรง ท้องฝักแบน หลังฝักเป็นเหลี่ยม เนื้อมีสีเหลืองทองคล้ายสีน้ำผึ้ง เนื้อล่อนนุ่ม ปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยจะจำหน่ายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 250 – 300 บาท
มนสิชา คล้ายแก้ว