วิวัฒนาการระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Banking) ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ต้องไปสาขา พัฒนาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์ สู่หน้าจอสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน
นับตั้งแต่ปี 2542 ธนาคารเอเชีย ให้บริการ ธนาคารอินเตอร์เน็ต (Internet Banking) เป็นแห่งแรก ก่อนที่ปี 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ให้บริการตามมา
กระทั่งธนาคารอื่น ๆ ต่างก็ให้บริการจนเกือบครบทุกธนาคาร
เมื่อโทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาจากการโทรออก รับสาย รับส่งข้อความธรรมดา ถูกพัฒนาให้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไร้สาย ที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน และใช้งานผ่านบราวเซอร์ได้ ก็มีหลายธนาคารให้บริการในรูปแบบ Mobile Site รองรับกับหน้าจอมือถือ
และเมื่อสมาร์ทโฟนมีลูกเล่นในการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น กระทั่งเป็นอุปกรณ์พกพาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้ธนาคารต่าง ๆ หันมาพัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นช่องทางให้บริการมากขึ้น
ต่อมา เดือนกันยายน 2556 ธนาคารได้พัฒนาหน้าตาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ โดยใช้รหัสส่วนตัว 6 หลัก มีรูปแบบสวยงาม ตกแต่งหน้าตาได้ตามใจ รวมทั้งเมนูการใช้งานที่ใช้ง่าย รวมทั้งการเพิ่ม อี-สลิป (E-Slip) เมื่อทำรายการสำเร็จ
แอปพลิเคชันของธนาคารกสิกรไทยดังกล่าว ได้รับความนิยมจากลูกค้า โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ลูกค้าสามารถโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน และส่งอี-สลิปไปยังแม่ค้าผ่านไลน์หรือเฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์ได้ทันที กลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ธนาคารอื่น ๆ หันมาสนใจรายละเอียด ปรับปรุงแอปพลิเคชันของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะการลดขั้นตอนเข้าสู่ระบบ การยืนยันการทำรายการที่ยุ่งยาก รวมทั้งการเพิ่มอี-สลิปหลังทำธุรกรรม เดือนสิงหาคม 2555 ธนาคารกรุงไทยเปิดตัวบริการ KTB Netbank เป็นบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ค่าธรรมเนียมรายปี 299 บาท แยกออกมาจากบริการ KTB Online แต่ในภายหลังได้ควบรวมบริการกับ KTB Online ไปด้วย ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้บริการ SCB Easy App เป็นรายที่สาม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ตามมาด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้บริการ Krungsri App เมื่อเดือนธันวาคม 2555 เป็นรายที่สี่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารกรุงเทพ ได้เปิดให้บริการ Bualuang mBanking ธนาคารบนมือถือที่การเข้าสู่ระบบแยกจาก Bualuang iBanking ต่างหาก โดยใช้รหัสส่วนตัว 6 หลัก และไม่ต้องใช้ OTP ในการทำธุรกรรม เช่น โอนเงิน กระทั่งธนาคารทหารไทย เปิดตัวบริการ TMB Touch เมื่อเดือนมกราคม 2558 โดยใช้รหัสส่วนตัว 6 หลักเช่นกัน และการใช้รหัสลับการทำธุรกรรม 8 หลัก เมื่อโอนเงินไปยังบัญชีอื่นหรือจ่ายบิล แทนการใช้ OTP แม้กระทั่งธนาคารของรัฐอย่าง ธนาคารออมสิน ก็พัฒนาแอปพลิเคชัน MyMo by GSB เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 โดยใช้รหัสส่วนตัว 6 หลัก มีจุดเด่นคือ ดูรายการเดินบัญชีนานสูงสุด 5 ปี และบริการสลากออมสินพิเศษ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชัน SCB Easy ใหม่ ทั้งการเข้าสู่ระบบใช้ระบบรหัสส่วนตัว 6 หลัก แทนการใช้ Username และ Password จากบริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ต SCB Easy Net รวมทั้งหน้าตาสรุปยอดเงิน และเพิ่ม e-Slip ที่เลือกได้ว่าจะแสดงยอดเงินคงเหลือหรือไม่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ธนาคารได้พัฒนาให้การโอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน ไม่ต้องใช้รหัสผ่านครั้งเดียว (OTP) ผ่าน SMS บนมือถืออีกต่อไป ส่วนธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 ได้ปรับปรุงแอปพลิเคชัน KTB Netbank โดยล็อกอินด้วยรหัสส่วนตัว 6 หลัก แทนระบบเดิม โดยตั้งค่าจาก Username (NET ID.) และ Password เดิม ก่อนกำหนดรหัสผ่าน 6 หลัก แม้จะทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่สะดวกขึ้น แต่อาจจะไม่สะดวกสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม เช่น คนที่มีชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านจำนวนมาก หรือ คนไทยในต่างประเทศ ที่ไม่มีเบอร์ไทยเพื่อรับรหัส OTP เป็นต้น |
||||
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลสำรวจของนีลเส็น ประเทศไทย ระบุถึงโมบายล์แบงก์กิ้งที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนใช้บริการมากที่สุด พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชันของธนาคาร สำหรับเช็กยอด โอนเงิน จ่ายเงิน โดยธนาคารกสิกรไทย มีผู้ใช้มากที่สุด ร้อยละ 22 รองลงมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร้อยละ 11, ธนาคารกรุงเทพ ร้อยละ 8 ตามมาด้วยธนาคารกรุงไทย ทหารไทย ออมสิน และกรุงศรีอยุธยา นอกนั้นจะเป็นแอปพลิเคชัน MetaTrader สำหรับซื้อขายตลาด Forex หรือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราสากล, IQ Option สำหรับซื้อขายระบบ Binary System และ Tap KTC สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตเคทีซี สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยในช่วงไตรมาส 2/2559 พบว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ย 234 นาที หรือ เกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่าการชำระเงินผ่านมือถือเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 100% แสดงให้เห็นว่า ในยุคที่สมาร์ทโฟนมีราคาถูกลง คนไทยใช้สมาร์ทโฟนทำธุรกรรมมากขึ้น นอกจากแอปพลิเคชันสนทนาอย่างไลน์ สื่อสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก ความบันเทิงอย่าง ยูทูป และดูรูปภาพอย่าง อินสตาแกรม |
||||
ปัจจัยที่ทำให้แอปพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือแต่ละแห่งเติบโตนั้นต่างกัน แต่โดยหลักแล้วมาจากฐานลูกค้าอินเตอร์เน็ตแบงก์กิงที่มีอยู่เดิม และลูกค้าคุ้นเคยการใช้อินเตอร์เน็ตแบงก์กิงอยู่แล้ว หันมาใช้งานผ่านมือถือมากขึ้น หรือจะเป็นชื่อเสียงของธนาคาร กลุ่มลูกค้า เช่น ลูกค้าบัญชีเงินเดือน (Payroll) ลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มอาชีพค้าขาย หรือ ธนาคารกรุงไทย ที่มีลูกค้าเป็นข้าราชการและตำรวจ และธนาคารทหารไทยที่มีลูกค้าเป็นข้าราชการทหาร เป็นต้น แน่นอนว่าเมื่อเป็นลูกค้าธนาคารไหน ก็ย่อมเลือกดาวน์โหลดและเลือกใช้บริการธนาคารนั้น ความสะดวกในการใช้บริการ ที่สามารถทำได้บนมือถือโดยไม่ต้องไปสาขาหรือตู้เอทีเอ็ม เช่น เช็กยอด โอนเงิน จ่ายบิล เติมเงินมือถือ รวมทั้งการซื้อขายกองทุน จองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล บัตรทางด่วนอีซี่พาส ฯลฯ ปัจจุบัน แม้การสมัครแอปพลิเคชันหลายธนาคารมีขั้นตอนไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการสมัครผ่านเครื่องเอทีเอ็ม หรือการใช้บัตรเอทีเอ็มในการสมัคร แต่การเข้าสู่ระบบได้มีรูปแบบดังต่อไปนี้ – ใช้ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) แบบดั้งเดิม เป็นวิธีที่ล้อมาจากบริการอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งโดยตรง ส่วนใหญ่มักจะใช้แบบเดียวกัน ยกเว้นบางธนาคารที่ต้องสมัคร ตั้งชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านใหม่อีกครั้ง ข้อเสียคือ เข้าสู่ระบบยุ่งยากและใช้เวลานาน รวมทั้งความปลอดภัยหากมีผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูล ปัจจุบันคงเหลือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซีไอเอ็มบีไทย ยูโอบี และ ธนชาต ที่ยังคงใช้ระบบนี้อยู่ และอาจจะเป็นเรื่องล้าสมัยในอนาคตอันใกล้ |
||||
– ใช้รหัสผ่าน 6 หลักเข้าสู่ระบบ (Mobile PIN) หลายธนาคาร เช่น กสิกรไทย กรุงเทพ ทหารไทย และออมสิน ใช้วิธีนี้ โดยจะล็อกกับตัวเครื่อง หรือบางธนาคารล็อกเบอร์มือถือที่สมัครเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย ภายหลังธนาคารไทยพาณิชย์และกรุงไทย หันมาใช้ระบบดังกล่าว ข้อดีก็คือ เป็นที่นิยมและสะดวก แต่ข้อเสียก็คือ จะถูกจ้องมองและจดจำจากมิจฉาชีพ หากมือถือหายและตั้งรหัสผ่านเดียวกับรหัสปลดล็อกมือถือจะยิ่งไม่ปลอดภัย ถึงกระนั้น ที่ผ่านมาอย่างธนาคารกรุงไทย มีเสียงเรียกร้องจากลูกค้า ให้ใช้ระบบรหัสส่วนตัว 6 หลัก แทนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน เฉกเช่นธนาคารอื่น จึงกลายมาเป็นการเปลี่ยนวิธีเข้าสู่ระบบดังกล่าว |
||||
– ใช้ Touch ID เฉพาะมือถือไอโฟนที่มีทัช ไอดี ในแอปพลิเคชั่นธนาคารกสิกรไทย ทหารไทย และกรุงศรีอยุธยา สามารถใช้ลายนิ้วมือแตะที่ปุ่ม Home เพื่อเข้าสู่ระบบ แทนการใช้รหัสส่วนตัว 6 หลัก ข้อดีก็คือสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนข้อเสียก็คือ ในบางครั้งที่ผู้ใช้งานประคองสติไม่ได้ อาจถูกมิจฉาชีพนำมือมาแตะที่ปุ่มโฮมเพื่อทำธุรกรรมแทนเราได้ แต่บางธนาคารมีขั้นตอนป้องกัน เช่น ธนาคารกสิกรไทย ถ้าจะโอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่น ให้ใส่รหัสส่วนตัว 6 หลักเพื่อยืนยัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์พยายามที่จะใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือในการใช้งานมากขึ้น เช่น ซัมซุง ที่มีระบบ Finger Scanner และใช้งานในซัมซุงเพย์ ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นธนาคารต่าง ๆ เพิ่มระบบนี้เข้าไปด้วย และเอาเข้าจริง ระบบสแกนลายนิ้วมือ มีความปลอดภัยกว่าการใช้รหัสผ่าน ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือรหัสส่วนตัว 6 หลัก หากไม่ใช่คนใกล้ตัวก็คงยากที่จะเจาะข้อมูลได้ ก็ต้องปลอมแปลงลายนิ้วมือกันใหญ่โต ใจหนึ่งเราอาจจะต้องการเข้าสู่ระบบแบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก คล้ายกับการกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ใจหนึ่งเราอาจจะกังวลเรื่องความปลอดภัย เมื่อเทียบกับการใช้ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน ที่คิดไปว่าผู้อื่นคงจะคาดเดายาก แม้ความปลอดภัย กับความสะดวกสบาย จะเป็นเรื่องที่มีวันบรรจบกันได้ยากก็ตาม มิจฉาชีพยังคงหาวิธีคุกคามผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขโมยเงินในบัญชีสารพัดรูปแบบ ในเมื่อธนาคารต้องการให้ลูกค้าส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ หากไม่มีทางเลือก สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ปรับตัวและใช้วิธีป้องกันตนเอง เช่น เปลี่ยนรหัส Mobile PIN ให้บ่อยครั้ง และไม่ซ้ำกับรหัสหรือเลขอื่น ๆ ที่คาดเดาง่าย |
||||
กระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบกระเป๋าเงิน (Wallet) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ยิ่งมีความร่วมมือระหว่างทุนไทยกับต่างชาติ เช่นทรูกับอาลีบาบา ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง แต่เมื่อโมบายล์แบงก์กิ้ง ธนาคารเป็นฝ่ายผู้มาก่อนกาล อีกทั้งข้อได้เปรียบของบัญชีเงินฝากที่ยังมีดอกเบี้ย มีฐานลูกค้าในมือ และระบบพร้อมเพย์ เป็นจุดแข็งสำคัญเมื่อเทียบกับระบบกระเป๋าเงินยังคงต้องพึ่งพาระบบธนาคารในการเติมเงิน ถึงกระนั้น ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้คน ธนาคารต้องปรับตัวด้วยการยุบสาขา ลดจำนวนพนักงาน หันมาใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ADM Recycle) เพื่อหมุนเวียนเงินในระบบ ธนาคารบนมือถือผ่านแอปพลิเคชัน ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกค้าธนาคารต่อไป จนกว่าระบบการชำระเงินจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความปลอดภัย ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจ เพราะยังมีลูกค้าอีกจำนวนมาก ที่นิยมทำรายการผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร เพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย แม้เจ้าหน้าที่สาขาจะแนะนำให้ลูกค้าใช้แอปพลิเคชันก็ตาม ถือเป็นสิ่งที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องดูแลกฎเกณฑ์การบริการให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
|