โปรดเกล้าฯครม.”ประยุทธ์ 4” สุวพันธุ์”ผงาดว่าการยุติธรรม ขณะที่ “ธีระเกียรติ” ผงาดนั่งเสมา1 ส่ง“ม.ล.ปนัดดา”ช่วยงานศึกษาฯ ด้าน“พิเชฐ” นั่งเก้าอี้รมว.ดิจิตัล ส่วน“อุตตม” เป็นรมว.อุตสาหกรรม เผย”วีระศักดิ์-ชุติมา-พิชิต-สนธิรัตน์”เป็นรมต.ใหม่ป้ายแดง ด้านสนช.มีมติท่วมท้นผ่านร่างพรบ.คอมพ์ฉลุย 168ต่อ 0 เสียง ด้านฝ่ายต่อต้านเปิดฉากโจมตีเว็ปไซต์ราชการแล้ว
เมื่อค่ำวันที่ 16 ธันวาคม ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรี 12 ตำแหน่ง
ประกอบด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระราชโองการ
หม่อมปนัดดาขึ้นเป็นว่าการยธ.
สำหรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประยุทธ์ 4 นี้ มีการโยกบางตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ คือหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล จากรมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี มาเป็นรมช.ศึกษาธิการ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ จากรมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ขยับขึ้นนั่งรมว.ยุติธรรม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ จากรมช.คมนาคม เข้ามาเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โยก“พิเชฐ”นั่งกระทรวงดิจิดอล
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จากรมช.พาณิชย์ เข้ามาเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายดุรงคเวโรจน์ จากรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นรมว. ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จากรมช.ศึกษาธิการ ขยับขึ้นไปเป็นรมว.ศึกษาธิการ และนางอรรชกา สีบุญเรือง จากรมว.อุตสาหกรรม โยกมาเป็นรมว.วิทยาศาสตร์ฯ
เปิดตัว4รมต.ใหม่ป้ายแดง
ส่วนรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงคือนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เป็นรมช.ต่างประเทศ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร เป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นรมช.คมนาคม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรมช.พาณิชย์ สำหรับนายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.ไอซีที ได้กลับเข้ามาเป็นรมว.อุตสาหกรรม
สนช.เดินหน้าถกกม.คอมพิวเตอร์
ก่อนหน้านี้ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับที่…)พ.ศ….ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3
ท่ามกลางกระแสคัดค้านร่างดังกล่าวจากกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ตที่มีการยื่นรายชื่อ 3 แสนคน
สนช.ติดใจข้อความไม่ชัดเจน
ที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปราย โดยมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้ มาตรา 11 วรรคสอง สมาชิกส่วนใหญ่ขอความชัดเจนของคำว่า “ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ” ว่ามีความหมายว่าอะไร และอะไรที่ทำให้เกิดความรำคาญ นอกจากนี้นายวัลลภ ตั้งคุณานุรักษ์ สมาชิกสนช. สอบถามถึงเจตนาของมาตราดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร ความจริงอีเมล์ขยะควรจะต้องขออนุญาตผู้รับก่อนส่งหรือไม่ ไม่ใช่ว่ากฎหมายนี้อนุญาตให้ส่งอีเมล์ขยะมาก่อน แล้วค่อยเปิดช่องให้ผู้รับสามารถยกเลิกได้โดยง่าย
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะประธานวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธอีเมล์ขยะตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากจะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์สซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่งให้ผู้รับ เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ในประกาศกระทรวงที่กำลังจะออกจะระบุว่าเรื่องใดที่ทำได้และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ
คาใจคำว่าการบริการสาธารณะ
มาตรา 12 สมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ นายดนัย มีชูเวท นายสมชาย แสวงการ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ขอความชัดเจนของคำว่า กระทำต่อข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ “การบริการสาธารณะ” ว่ามีความหมายอย่างไร รวมทั้งท้วงติงมาตรา 12 วรรคสี่ การทำให้ผู้อื่นตายแต่ไม่ได้เจตนา เป็นการบัญญัติซ้ำกับประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่หรือไม่
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่า การทำให้ผู้อื่นตายแต่ไม่ได้เจตนา ไม่มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ขณะเดียวกันกฎหมายอาญาบัญญัติในเรื่อง การทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่เป็นการทำร้ายต่อระบบจนทำให้คนอื่นตาย ดังนั้น การบัญญัติว่า ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแต่มิได้มีเจตนา จึงไม่ซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา
ข้องใจคณะกรรมการกลั่นกรอง
อย่างไรก็ตาม มาตรา 20/1 ให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 คน โดยมาจากภาคเอกชน 2 คน และหากเห็นว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสมาชิกสนช.สอบถามถึงเรื่องที่มาและจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรอง
สมาชิกสนช.อภิปรายว่า การตั้งคณะกรรมการเพียง 5 คน หากมาประชุมเพียงแค่ 3 คนก็สามารถลงมติได้แล้ว ถามว่าจะให้ 3 คน ตัดสินชีวิตใครคนใดคนหนึ่งใช่หรือไม่ ดังนั้นขอความกรุณาคณะกมธ.ช่วยปรับจำนวนเป็น 7 หรือ 9 คน และเชื่อว่าหากมีที่มาชัดเจนจะช่วยลดแรงต้านของสังคมได้ นอกจากนี้สมาชิกยังสอบถามถึงคำจำกัดความ คำนิยมของคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หมายถึงอะไร
ห้ามสอนฆ่าตัวตาย ปล้น หรือทำอาวุธ
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงมาตรา 20/1 ว่า ข้อมูลอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล ส่วนความหมายของคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ” และอะไรที่ขัดต่อความสงบฯนั้น เรียนว่าไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย และที่ประชุมกมธ.ได้หารือกันแล้ว พบว่าศาลจะมีแนวทางพิจารณาอยู่ว่าเรื่องใดที่ขัดต่อความสงบบ้าง ทั้งนี้มาตราดังกล่าวศาลจะพิพากษาให้ระงับหรือลบเท่านั้น ไม่มีความผิดใดๆ แต่ถ้าไม่ทำตามที่ศาลสั่งตรงนั้นถึงจะมีความผิด สำหรับตัวอย่างความผิดตามมาตราดังกล่าว เช่น สอนวิธีการฆ่าตัวตาย ปล้น หรือทำอาวุธ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อเผยแพร่แล้วถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นต้น
ยอมเพิ่มกก.กลั่นกรองเป็น9คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ประชุมพิจารณาถึงมาตราดังกล่าว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. สั่งพักการประชุม 30 นาที เพื่อขอให้กมธ. และผู้ที่ติดใจปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวในเรื่องที่มาและจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรอง จนกระทั่งเปิดประชุมอีกครั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ชี้แจงว่า หลังจากที่หารือแล้ว เห็นว่าการที่มีคณะกรรมการกลั่นกรอง จำนวน 5 คน แม้คำตัดสินจะไม่มีผลต่อการกระทำผิดหรือถูก แต่นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือลบข้อมูลดังกล่าวออกไป ซึ่งกมธ.เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองจาก 5 เป็น 9 คน และคำตัดสินต้องมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือ 5 คน
นอกจากนี้คุณสมบัติของคณะกรรมการฯ ที่มาจากภาคเอกชน จำนวน 3 คน ให้มาจากด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
มติสนช.ผ่านฉลุย168เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 และวาระ 3 โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
กลุ่มต้านเปิดฉากโจมตีต่อเนื่อง
ขณะที่หลังร่างพรบ.คอมพิเตอร์ผ่านสนช. ปรากฏว่าเพจ “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway” ในเฟซบุ๊ก ประกาศนัดระดมพลโจมตีเว็บไซต์ http://findept.rta.mi.th หรือ “กรมการเงินทหารบก” โดยการกด F5 ใช้เวลาเพียง 15 นาที เว็บก็ล่ม ใช้งานไม่ได้ โดยทางเพจประกาศให้สมาชิกกด F5 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับมีการนัดโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้โจมตีเว็บไซต์ของรัฐสภาจนไม่สามารถใช้งานได้กว่า 1 ชั่วโมง
ตร.เตือนป่วนเว็บรัฐเจอโทษอ่วม
ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าไปกระทำความผิดที่หลงเชื่อเข้าไปกระทำความผิด จะมีความผิดตามมาตรา10ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โทษจำคุกไม่เกิน5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ยุยงส่งเสริมปลุกปั่นเพื่อให้กลุ่มคนกระทำความผิดจะสุ่มเสียงต่อความผิดมาตรา116 (3) ฐานยุยงปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินมีโทษจำคุกไม่เกิน7 ปี
‘มีชัย’เผยตั้งงบลับให้’กกต.’
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ซึ่งมีพรรคขนาดเล็กเข้ารับฟัง ว่า ร่าง พรป.กกต.นั้น เป็นความหวังว่า กกต.จะดูแลการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เช่น ให้อำนาจกกต.คนเดียว สั่งระงับเลือกตั้งได้ หากพบทุจริต พร้อมกำหนดให้ กกต.มีงบลับคล้ายกับหน่วยข่าวกรอง เพื่อไว้สืบราชการลับ หรือสอบสวนไต่สวน
ทั้งนี้ กกต.อาจตั้งหน่วยข่าวกรองของสำนักงาน หรือขอให้หน่วยข่าวกรองของรัฐ สืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ขณะที่คุณสมบัติของ กกต.นั้น กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาต้องคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติ คือ ซื่อสัตย์ กล้าหาญและปราศจากอคติ มาทำหน้าที่ เพื่อให้คนที่มาทำหน้าที่นั้น ไม่เกิดความเกรงใจ หรือใจอ่อนระหว่างการทำงาน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล