กระแสแสงเหนือกระฉ่อนไปทั่วทั้งโซเชียล เราเลยไม่รอช้าขอพาทุกคนมารู้จักแสงเหนือ แสงใต้ของจริง พร้อมเผยสถานที่ไปถ่ายรูปกับแสงเหนือให้สวยเป๊ะไม่ต้องกลัวโป๊ะ
แอบเห็นหลายต่อหลายคนไปล่าแสงเหนือ กันแบบไม่ต้องจ่ายสตางค์และไม่ต้องเดินทางไปไหนให้ลำบาก เพราะยุคนี้เราสามารถยืนดูแสงเหนือกันสวย ๆ ด้วยแอพฯ ในสมาร์ทโฟนใช่ไหมคะ แต่ถึงแม้จะได้แค่มโนไปวัน ๆ ในชีวิตจริงยังไม่เคยมีโอกาสไปล่าแสงเหนือเลยสักครั้งก็ไม่เป็นไรค่ะ เรามาทำความรู้จักกับแสงเหนือ แสงใต้ หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่าแสงออโรร่าไปพลาง ๆ ก่อน
แสงเหนือคืออะไร
แสงเหนือ ภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า ออโรร่า บอเรลลีส (Aurora Borealis) ตั้งขึ้นโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง โดยแสงเหนือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความสวยงามตระการตาไปทั่วท้องฟ้า มองดูคล้าย ๆ หมู่ดาวและแสงจากท้องฟ้ากำลังเต้นระบำอย่างงดงาม ซึ่งแสงออโรร่าปรากฏในหลายสีด้วยกัน มีทั้งแสงสีเขียว แสงสีฟ้า แสงสีชมพู สีแดง สีเหลือง หรือแม้กระทั่งสีม่วงก็เคยมีให้เห็นกันมาแล้ว
ทั้งนี้แสงออโรร่ามักจะเกิดในบริเวณแถบขั้วโลก โดยหากเกิดในทางเหนือก็จะเรียกว่าแสงเหนือ แต่หากเกิดขึ้นทางใต้ก็จะถูกเรียกว่าแสงใต้ หรือภาษาอังกฤษ คือ Aurora Australis แต่หากใช้คำว่า Aurora Polaris จะหมายถึง แสงขั้วโลก ใช้เรียกทั้งแสงเหนือและแสงใต้
แสงเหนือ-แสงใต้เกิดจากอะไร
ปรากฏการณ์แสงเหนือ แสงใต้ เกิดจากการชนกันระหว่างก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกกับอนุภาคไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อให้เกิดการระเบิดเป็นลำแสงสีต่าง ๆ กันออกไป ขึ้นอยู่กับแสงนั้นเกิดขึ้นในช่วงชั้นบรรยากาศไหน และเกิดจากก๊าซอะไร
เพราะในระดับความสูงที่เหนือชั้นบรรยากาศ 100 กิโลเมตรขึ้นไป จะประกอบด้วยโมเลกุลไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ โดยในระดับความสูงเหนือชั้นบรรยากาศประมาณ 100-200 กิโลเมตร ช่วงนี้จะมีโมเลกุลออกซิเจนหนาแน่นมาก สามารถก่อให้เกิดแสงออโรร่าสีเขียวอมเหลือง ซึ่งเป็นแสงเหนือ แสงใต้ยอดนิยมที่มักจะได้เห็นกันบ่อย ๆ
ส่วนแสงเหนือสีแดงจะปรากฏในช่วงชั้นบรรยากาศที่สูงเกิน 200 กิโลเมตรขึ้นไป แต่แสงสีฟ้าและสีม่วงมักจะปรากฏที่ช่วงความสูงเหนือชั้นบรรยากาศในช่วงที่ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร อันเป็นช่วงชั้นที่มีโมเลกุลของไนโตรเจนหนาแน่นกว่าออกซิเจน
แสงเหนือเกิดมากในเดือนไหน
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเกิดแสงเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูหนาวของทางขั้วโลก ซึ่งเป็นช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม มีนาคม และเมษายน นอกจากนี้หากได้ไปเยือนขั้วโลกในขณะที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไร้เมฆ มีความมืดมิดสนิท มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดมลพิษ และเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00-24.00 น. ก็จะยิ่งมีโอกาสในการเห็นแสงเหนือมากขึ้น
ทว่าหากใครต้องการความชัวร์ว่าอุตส่าห์เดินทางไปล่าแสงเหนือแล้วต้องไม่พลาดจะเก็บภาพเด็ด แนะนำให้ไปชมแสงเหนือในช่วงที่ผ่านวัฏจักรจุดสุริยะ (Sun Spot) มาแล้ว 2 วัน แต่อาจจะต้องรอกันนานนิดนึงเพราะวัฏจักรดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุก ๆ 11 ปี ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีช่วงแสงเหนือพีค ๆ ไปเมื่อปี ค.ศ. 2013 คร่อมปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่แสงเหนือจะเกิดได้ชัดเจนที่สุด ก่อนจะค่อย ๆ ลดระดับแสงลงจนกว่าจะเปล่งแสงเจิดจ้าขึ้นมาอีกครั้งเมื่อครบรอบวัฏจักร 11 ปี
ทั้งนี้เราสามารถดูการคาดคะเนเวลาที่น่าจะเกิดแสงออโรร่าได้จากทางเว็บไซต์ของ NASA เลยค่ะ
ดูแสงเหนือ ประเทศไหนดี
แหล่งกำเนิดแสงออโรร่าจะอยู่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ โดยจะมีเส้นแนวของการเกิดแสงอยู่รอบ ๆ ขั้วแม่เหล็กของโลก เรียงตัวกันในรูปทรงไข่เหนือขั้วแม่เหล็กโลกดังกล่าว ดังนั้นหากเกิดแสงออโรร่าในซีกโลกเหนือ เราจึงเรียกว่าแสงเหนือ และหากเกิดแสงออโรร่าในซีกโลกใต้ เราจึงเรียกว่าแสงใต้นั่นเอง
ทั้งนี้แสงเหนือมักจะเกิดได้ทางตอนเหนือของแคนาดา ทางตอนเหนือของอะแลสกา ทางตอนใต้ของกรีนแลนด์และไอซ์แลนด์ รวมทั้งทางชายฝั่งทิศเหนือของประเทศนอร์เวย์และไซบีเรีย ส่วนแสงใต้แม้จะเห็นได้ไม่บ่อยเท่าแสงเหนือ ทว่าก็เคยปรากฏให้เห็นในบริเวณวงแหวนรอบทวีปแอนตาร์กติกา และมหาสมุทรอินเดียใต้
อ๊ะ ! แต่นอกจากนี้เรายังสามารถชี้เป้าให้คุณ ๆ ได้ด้วยว่า ถ้าอยากไปล่าแสงเหนือ แสงใต้ เราจะไปที่ไหนกันดี
– 7 ประเทศตามล่าแสงเหนือ ชมปรากฏการณ์แสงเต้นระบำบนฟากฟ้า
– ตามล่าแสงเหนือ ณ ดินแดนแห่งภูเขาไฟ ประเทศไอซ์แลนด์
– เปิดขั้นตอนการตามหาแสงเหนือ ณ ไอซ์แลนด์ ตอนที่ 1
– เปิดขั้นตอนการตามหาแสงเหนือ ณ ไอซ์แลนด์ ตอนจบ
แสงเหนือ-แสงใต้ มีผลกระทบต่อโลกอย่างไร
แม้หลายฝ่ายจะเกิดความหวั่นใจว่าอนุภาคไฟฟ้าที่แฝงมากับก๊าซจากแสงอาทิตย์ สามารถเข้ามาถึงชั้นบรรยากาศโลกได้ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลถึงอนาคตของโลกหากเกิดพายุสุริยะขึ้นมา ทว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานความเสียหายที่เกิดจากปรากฏการณ์แสงออโรร่าแต่อย่างใด
เตรียมข้อมูลกันให้แน่น ศึกษาเส้นทางล่าแสงเหนือกันให้ดี แล้วเตรียมหยอดกระปุกไปล่าแสงเหนือแบบไม่โป๊ะกัน !
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สวทช. Northern Lights Centre Space