เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง ตามนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ด้านยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) นโยบายที่ 1 ยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ตามนโยบายและจุดเน้นการปฏิบัติราชการ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ความสำคัญกับนโยบายยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูงนี้เป็นอย่างมาก จึงกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) และแต่งตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาขับเคลื่อนที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน มาร่วมกันกำหนดทิศทางที่จะทำให้เกิดการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง
ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผอ.ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูงและการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาทวิภาคี ด้วยแนวคิด 3 ส. 1 ป. ประกอบด้วย 1.เสริมสร้างการประชาสัมพันธ์และการแนะแนวเชิงรุก 2.ส่งเสริมการเพิ่มภาคีเครือข่ายและระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 3.สนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง และ 1.ป คือปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประกอบกับในการประชุมครั้งนี้ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี ได้ดำเนินการปรับปรุงเอกสาร(คู่มือ)แนวปฏิบัติการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง จำนวน 2 เล่ม เพื่อให้ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี ระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด สามารถใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อที่ประชุม ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตุเอกสาร(คู่มือ)แนวปฏิบัติฯและข้อเสนอแนะเพื่อนำสู่การพัฒนาและการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงเป็นอย่างมาก
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกข้อสังเกตุ ความคิดเห็นและข้อเสนอะแนะ จากผู้ทรงคุณวุฒิ จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเอกสาร(คู่มือ)แนวปฏิบัติฯ และนำไปกำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง ต่อไป