วันที่ 21 ธันวาคม 2565 จากการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกรมพัฒนาฝีมือแรง ในการจัดการอาชีวศึกษาและพัฒนาแรงงานที่มีฝีมือ ตลอดจนการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาทวิภาคี พร้อมทั้งขยายความร่วมมือภาคีเครือข่ายที่เป็นสถานประกอบการ ในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา นำไปสู่การจ้างงานเพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมากซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายหลักในการจัดการอาชีวศึกษา ปี พ.ศ. 2566 อีกด้วย
ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงได้มอบหมายให้ ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมคณะเข้าพบและปรึกษาหารือ กับ นางสาวนภาเพ็ญ ศรีศักดิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ของการหารือ ประกอบด้วย การเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง จากร้อยละ 20 ให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2568 ,การเพิ่มปริมาณการลงนามความร่วมมือการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา และการจัดสิทธิประโยชน์สำหรับสถานประกอบการในการฝึกเตรียมคนเข้าทำงาน เป็นการเร่งด่วน
ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวอีกว่า วันนี้ได้มาหารือกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเกี่ยวกับประเด็น 1) สิทธิประโยชน์ที่ผู้ดำเนินการฝึกหรือสถานประกอบการจะได้รับเมื่อมาร่วมจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคี เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษา ได้กำลังแรงงานที่ทีความรู้ ความสามารถ ทักษะฝีมือ และทัศนคติในการทำงานที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบกิจการ 2) แนวทางในการพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาอาชีวศึกษา และสถานประกอบการ เช่น การฝึกอบรมหลักสูตรครูฝึกและครูนิเทศในสถานประกอบการ การเขียนหลักสูตรเพื่อยื่นขอรับสิทธิปรโยชน์ โดยการจัดฝึกอบรมแบบ Online Onsite และ Hybrid โดยร่วมกับศูนย์อาชีวศึกษาจังหวัด และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังวัด
3) แนวทางการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่สถานประกอบการ เพื่อความร่วมมือการจัดการศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง
นางสาวนภาเพ็ญ ศรีศักดิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างของตนหรือบุคคลทั่วไปก่อนรับเข้าทำงาน รวมถึงกรณีการรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลที่ราชการส่งมาฝึกอาชีพ ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคีอีกช่องทางหนึ่ง ตลอดจนสถานประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรณีที่ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้ดำเนินการฝึกเตรียมเข้าทำงาน โดยผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฝึกสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมนั้นอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นที่สนใจของสถานประกอบและทำให้มาร่วมมือการจัดการศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูงอย่างแน่นอน
นางสาวฉัตราสิณี พิรหิรัณย์ รายงาน