เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยิน หรือเคยเห็นผู้ป่วย “โรคท้าวแสนปม” กันมาบ้างแล้ว แม้ว่าความผิดปกติของผิวหนังที่เป็นตะปุ่มตะป่ำจะสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่พบเห็น แต่นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว สิ่งที่หลายคนกังวลมากกว่า น่าจะเป็นเรื่องของการติดโรคจากคนสู่คนมากกว่า
โรคท้าวแสนปม คืออะไร?
ท้าวแสนปม เป็นอาการผิดปกติของพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 22 ที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ เป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างแท้จริง หากไม่ได้รับยีนส์ที่ผิดปกติจากพ่อแม่ เราก็จะไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เลย
โรคท้าวแสนปม ติดต่อกันทางผิวหนังได้หรือไม่?
เมื่อท้าวแสนปมเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ และถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ดังนั้นการสัมผัส หรือจับตุ่มนูนนิ่มๆ บนร่างกายของผู้ป่วย จะไม่ทำให้เราติดโรคอย่างแน่นอน
โรคท้าวแสนปม มีอาการอย่างไรบ้าง
นอกจากตุ่มนูนนิ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกายแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ของท้าวแสนปมที่เราอาจจะยังไม่ทราบ โดยอาจจะมีก้อนเนื้องอกที่บริเวณอื่นๆ นอกจากผิวหนังตามร่างกาย เช่น เนื้องอกที่ม่านตา ระบบประสาท
นอกจากนี้อาจพบปานสีน้ำตาลอ่อนขนาดใหญ่เกิน 1.5 เซนติเมตรมากกว่า 6 แห่งขึ้นไป หรืออาจพบกระที่บริเวณรักแร้ หรือขาหนีบ และอาจพบความผิดปกติของกระดูกรอบตา และขาตั้งแต่เด็ก
โรคท้าวแสนปม จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
จากประวัติของผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม พบ 5% ที่ปุ่มนูนตามผิวหนังจะกลายเป็นก้อนมะเร็ง แต่หากจำนวนก้อนมะเร็งที่พบไม่มาก และตรวจพบเจอเร็ว ก็จะสามารถทำการรักษาโดยการผ่าตัดได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเกิดเป็นปุ่มนูนขึ้นมาใหม่หลังผ่าตัดได้ หรืออาจเป็นที่ก้อนเนื้อก้อนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากอยู่ในการดูแลของแพทย์อยู่เป็นประจำก็จะช่วยได้
สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่เป็นพ่อแม่ ควรตรวจร่างกายก่อนมีบุตร เพื่อการวางแผนการมีบุตรอย่างปลอดภัยไรโรคมากขึ้น ภาระและความทรมานจะได้ไม่ตกไปอยู่กับชีวิตของเด็กที่กำลังจะเกิดขึ้นมาลืมตาดูโลก และพ่อแม่ก็จะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียทองในการดูแลรักษาสุขภาพของลูกในอนาคตอีกด้วย และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เราก็ไม่ควรแสดงทีท่ารังเกียจ เพราะไม่ว่าอย่างไรโรคนี้ก็ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัสแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สสส.
ภาพประกอบจาก GettyImages