วันที่ 14 ธันวาคม 2565 สืบเนื่องจาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ได้มีนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เข้าสู่ตลาดแรงงาน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและได้มุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มากขึ้น ตั้งเป้าร้อยละ 50 ในปี 2568 ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่ท้าทายอย่างยิ่ง
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างมาก จึงมอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง ระดับจังหวัด ตามนโยบายเร่งด่วน (Quick win) ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 2 อาคารราชพฤกษ์ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ถนนรามอินทรา กรุงเทพมหานคร และระบบออนไลน์ Zoom Meeting ร่วมกับประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด(อศจ.) 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขึ้นในวันนี้
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. ได้นำนโยบายของ ศธ.มาขับเคลื่อนเป็นการเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของรัฐบาล ,กระทรวงศึกษาธิการ,ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการพัฒนาประเทศในระดับต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยมีการวางแผนการทำงานแบบบูรณาการเชิงรุกและประชุมกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้น โดยได้มีการปรับกลไกการบริหารจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ในรูปแบบศูนย์อาชีวศึกษาวิภาคีจังหวัด เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งจะสามารถผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียงและของประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีในพื้นที่จังหวัดในรูปแบบของศูนย์อาชีวศึกษาวิภาคีจังหวัด เลขาธิการ กอศ.ได้มอบหมายให้ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนงานต่างๆ อาทิ รวบรวมข้อมูลสถานประกอบการที่จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีร่วมกับ สอศ. เพื่อจัดการการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ, ประสานงานสภาหอฯทั้ง 5 สภาในการสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือที่เข้มแข็ง,สื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และขยายการรับจำนวนผู้เรียนระบบทวิภาคีให้สู่เป้าหมายร้อยละ 50 ในภาพรวมของอาชีวศึกษาจังหวัด ต่อไป
ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผอ.สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ทำหน้าที่ ผอ.ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สอศ.กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้เข้าสู่ตลาดแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบการและการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาทวิภาคี
ด้วยแนวคิด 3 ส 1 ป ประกอบด้วย
ส.ที่ 1 เสริมสร้างการประชาสัมพันธ์และการแนะแนวเชิงรุก ในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีแก่ผู้ปกครอง นักเรียนและสถานประกอบการ
ส.ที่ 2 ส่งเสริมการเพิ่มเครือข่าย (Strategic Partners)และระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ (DVE Data)
ส.ที่ 3 สนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง โดยจัดทำคู่มือการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียน การสอนและการนิเทศการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ
และ 1 ป. คือ ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยครั้งนี้ เลขาธิการ กอศ.ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาวิภาคีจังหวัด เพื่อให้เกิดความกระชับ ยืดหยุ่นและคล่องตัวในรูปแบบจังหวัดเป็นฐานสำหรับการขับเคลื่อน
สำหรับการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง ระดับจังหวัด ครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับทิศทางการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายและจุดเน้นการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเกิดการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาของประเทศไทยที่มั่นคง ร่ำรวย ด้วยมืออาชีวะ อย่างแท้จริง
นางสาวฉัตราสิณี พิรหิรัณย์ รายงาน