(13 ธ.ค.65)ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 15.17 น.นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำแถลงการณ์ผ่านเจ้าหน้าที่งานสารบรรณถึงพล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา เรื่องร้องเรียนกรณีสมาชิกวุฒิสภามีส่วนก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทหาร เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ และมีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุน ส.ต.ท.หญิง กระทำการทารุณทหารหญิงหรือไม่ อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
จากกรณีนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือกัน จอมพลัง และนายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ พลเมืองดีมีความกล้าหาญได้พาอดีตทหารหญิงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่กล่าวอ้างเป็นภรรยาสมาชิกวุฒิสภา (กิ๊ก ส.ว.) ซึ่งเป็นนายจ้างของตนบังคับใช้แรงงานและทำร้ายร่างกาย เช่น ถูกตบตีตามร่างกายจนปากแตกเลือดออกแล้วถูกเอาน้ำยาล้างห้องน้ำมาราดแผลในปาก ถูกเครื่องช็อตไฟฟ้าตามร่างกาย ใช้ไม้หน้าสามตีที่ใบหน้า เป็นต้น รวมทั้งยังมีข้อหาค้ามนุษย์ด้วยนั้น เหตุเกิดที่จังหวัดราชบุรี และ ส.ต.ท.หญิง มีชื่อมาช่วยงานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าโดยมีการเบิกเบี้ยเลี้ยงและได้วันเพิ่มวันทวีคูณทั้งที่ไม่ได้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด อีกทั้งที่ผ่านมาอดีตทหารหญิงยังต้องเป็นทหารรับใช้ ส.ต.ท.หญิงอีกด้วย โดยมีประจักษ์พยานหลักฐานสำคัญที่เปิดเผยต่อสาธารณชนคือ แผ่นป้ายโลหะจารึกการทำบุญร่วมกันที่วัดบางลี่เจริญธรรม ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี ระบุชื่อคุณธานี อ่อนละเอียด และคุณกรศศิร์ บัวแย้ม บริจาค 120,000 บาท ที่ติดในศาลาดำรงค์สกุล (ศาลาอเนกประสงค์) นั้น ย่อมเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักจารึกติดตราตรึงไว้ ณ วัดแห่งนั้น อันมีนัยสำคัญบ่งบอกได้ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกวุฒิสภา (ตำแหน่งปัจจุบัน) เป็นกิ๊กกับส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ในห้วงเวลาแห่งความรักนั้น จึงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนถึงการเข้ารับราชการตำรวจดังกล่าวข้างต้นว่าใช้อภิสิทธิ์ใดเข้ารับราชการและกระทำการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและกฎ ระเบียบวินัยของข้าราชการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่ตนมีชื่อไปช่วยราชการแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ส่งให้ตน พบว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม มีประวัติการทำงานในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภา ดังนี้
- สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (31 กรกฎาคม 2557 –21พฤษภาคม 2562)
1.1 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนและได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 2 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2561 โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 6,777 บาท และจังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 4,430 บาท และศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ครั้ง คือ ร่วมเดินทางไปประชุมทวิภาคี ณ สหพันธรัฐรัสเซีย – สาธารณรัฐฟินแลนด์ ระหว่างวันที่7-16 เมษายน 2561 โดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 60,900 บาท และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประสานงานทำหนังสือเดินทางของราชการไปต่างประเทศให้ด้วย
1.2 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 4,500 บาท
1.3 เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรการปฏิบัติงานสนับสนุนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้า ลำดับที่ 1ปรากฏข้อเท็จจริงว่าช่วงระยะเวลาสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น นางสาวกรศศิร์ บัวแย้ม และคู่กรณีได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นประทวนและทหารชั้นประทวนตามลำดับ และย้ายไปสังกัดตำรวจสันติบาลและมีชื่อไปราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่มีการปฏิบัติหน้าที่จริงในทุกตำแหน่งแต่กลับได้รับเงินเดือนและเงินพิเศษต่าง ๆ นั้น หากไม่มีอำนาจและอิทธิพลของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับพวกและรวมถึงผู้บังคับบัญชาข้าราชการต้นสังกัดกระทำการร่วมมือด้วยย่อมไม่สามารถกระทำการได้ เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นจิตใจประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศ ผู้วิ่งเต้น ผู้บรรจุแต่งตั้งกิ๊ก ส.ว. และคนรับใช้ ส.ว. จึงกระทำการในขณะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 6 ที่ระบุว่าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาและรัฐสภาและกระทำในขณะที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นนายกรัฐมนตรี - สมัยวุฒิสภา (11 พฤษภาคม 2562 – 15 กันยายน 2565)
2.1 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา โดยได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 6,000 บาท
2.2 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนและร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 1 ครั้ง คือ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 1,090 บาท - สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะหน่วยงานธุรการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภาไม่ได้เปิดเผยว่า ผู้ใดเป็นผู้เสนอชื่อส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นปรึกษากิตติมศักดิ์ เลขานุการ นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ รวมทั้งการศึกษาดูงานภายในประเทศและต่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการดังกล่าวข้างต้น และเข้าอบรมหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ทั้งที่จบวุฒิการศึกษาเพียงระดับ ปวส.ด้านการบัญชี เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่ข้าราชการตำรวจที่มียศเพียงแค่ส.ต.ท.หญิงจะสามารถกระทำได้โดยลำพัง หากไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับพวกหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงระบบงานของทางราชการเพื่อเอื้อประโยชน์ดังกล่าว ย่อมไม่สามารถกระทำได้
ตนได้สอบถามไปยังสถาบันพระปกเกล้าแล้วว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่ามีใครเป็นผู้เซ็นรับรองการส่งนางสาวกรศศิร์ บัวแย้ม เข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าว แต่สถาบันพระปกเกล้าซึ่งควรกล้าหาญทางจริยธรรมกลับปกปิดข้อมูลไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ทราบ ทั้ง ๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศตั้งข้อสงสัย
นายวัชระ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งพล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา จำนวน 3 ฉบับลงวันที่ 5,15 และ 29 กันยายน 2565 เพื่อชี้ช่องหรือเบาะแสการสืบสวนกรณีนี้ อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 7-9 ข้อ 12-13 ข้อ 18,20,22,30,32,35,36 จึงขอยืนยันตามคำให้การและคำแถลงการณ์ที่ส่งมานี้ จึงขอให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ และหากการส่งคำแถลงการณ์นี้เกินเวลาที่กำหนด จะไม่นำมาพิจารณาก็ไม่ติดใจอะไร เพราะได้ชี้ช่องข้อเท็จจริงและหลักฐานและให้การดังกล่าวต่อคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จะวินิจฉัยและลงมติตามอำนาจหน้าที่ด้วยหลักธรรมภิบาลต่อไป พร้อมกันนี้ขอยกคำกลอนสุนทรภู่ในตอนหนึ่งว่า
“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”
กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก ‘พระอภัยมณี’