นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างไทย-จีน กับนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน ที่ปักกิ่ง ว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการยืนยันความร่วมมือในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างไทย-จีน อยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 มีการลงนามไป
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 โดยมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
เริ่มกรุงเทพฯ-โคราชสายแรก
นายอาคมกล่าวว่า สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าวมีความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ ความร่วมมือที่ 1 ความร่วมมือจะเป็นโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานสายแรกของประเทศไทย เส้นทางที่ 1 หนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และแห่งที่ 2 แก่งคอย-กรุงเทพฯ ความร่วมมือที่ 2 จะดำเนินการโครงการรถไฟออกเป็น 5 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ช่วงที่ 2 แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย และความร่วมมือที่ 3 ทั้งสองฝ่ายยืนยันความร่วมมือดำเนินโครงการรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่าให้เริ่มโครงการลำดับแรกในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ส่วนโครงการลำดับที่ 2 ดำเนินการในเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย โดยรายละเอียดของโครงการจะมีการหารือทันทีหลังการลงนามสัญญาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับรายละเอียดของสัญญาจะว่าด้วยเรื่องของการออกแบบ ที่ปรึกษาคุมงาน ก่อสร้าง งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกลรวมทั้งขบวนรถไฟ รวมไปถึงการฝึกอบรมบุคลากร โดยจะครอบคลุมในทุกเรื่อง สำหรับโครงการลำดับแรกคาดว่าจะดำเนินการร่างสัญญาให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2560 และจะเริ่มการก่อสร้างโครงการเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้ภายในต้นปี 2560 และจะดำเนินการตามรายละเอียดของงานสำหรับโครงการเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย เป็นอันดับต่อไป
Cr: มติชน