11 ธ.ค.59 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวให้ความเห็นต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยมีข้อสังเกตว่า มีบทบัญญัติที่เป็นภาระต่อประชาชน และกระทบสิทธิของประชาชน รวมทั้งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในวิธีพิจารณาคดี ดังมีข้อสังเกต 3 ประการ ดังนี้ 1.การกำหนดให้มีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรค เป็นภาระต่อประชาชน ซึ่งคนในชนบทส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ ล่าสุดมีการลงทะเบียนคนจน 8.3 ล้านคน และขณะนี้รัฐบาลกำลังอัดฉีดเม็ดเงินเป็นรายบุคคลเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย จึงเห็นได้ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ในมือคนจนมีคุณค่ายิ่งในความรู้สึกของคนทีมีเงินเดือนเป็นแสน และรับหลายทาง อาจเห็นว่าเงิน 100 – 200 บาท เป็นเศษเงิน แต่ในมุมของคนจน นั่นคือ ค่ากับข้าว 1 มื้อ
2.ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองเดิมยังคงสภาพเป็นพรรคการเมืองอยู่ การจะเป็นพรรคการเมืองได้ องค์ประกอบสำคัญ คือ การมีสมาชิกพรรค ซึ่งมิได้เสียค่าบำรุงการเป็นสมาชิกพรรคมาแต่ต้นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อให้สิทธิพรรคการเมืองเดิมยังคงอยู่ จึงไม่ควรมีบทบัญญัติใดไปกระทบสิทธิประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งมาแต่เดิม ด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องเสียค่าบำรุงสมาชิกพรรคในภายหลัง ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม
3.พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง และเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องการเมือง การมีบทลงโทษพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค ถึงขั้นมีโทษจำคุก และสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต มีข้อพิจารณาว่า ถูกต้องตามหลักวิชากฎหมายหรือไม่ การมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก และสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต โดยปกติจะบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดไว้ในกฎหมายอาญา และมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน แต่สำหรับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นเรื่องการเมือง การลงโทษ ควรลงโทษทางการเมือง ถ้ามีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ก็ควรแยกฟ้องเป็นคดีอาญา เฉพาะอย่างยิ่ง การจะให้พรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองไปร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่สมาชิกพรรคการเมืองกระทำ อาจถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย ที่สำคัญ ดูไม่สมเหตุสมผล และไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งประการสำคัญที่สุด ในกระบวนการวิธีพิจารณาคดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะในอดีตมีการ กลั่นแกล้ง ร้องเรียน การปั้นพยานเท็จทางการเมืองก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคดียุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา
จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุกหรือประหารชีวิตใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง หากจะมี ควรแยกฟ้องเป็นคดีอาญา ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น มิเช่นนั้น การกลั่นแกล้งทางการเมือง การเลือกปฏิบัติ การสองมาตรฐาน ก็จะเกิดขึ้นเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำรอยบาดหมางในอดีตไม่รู้จบ แล้วเราจะร่วมกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติได้อย่างไร