เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมออโรร่า รีสอร์ท กาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี นายทวีศักดิ์ อำลา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูผู้สอน ตามหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ สสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รายวิชา Math in Real Life พร้อมด้วย นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา คณะวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
นายทวีศักดิ์ อำลา กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดการประชุมว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนให้ได้มาตรฐานและเสริมสร้างผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ปรับกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงสอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เน้นพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะและกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพที่ชอบอย่างมีความสุขในชีวิตจริงเพื่อสนองตอบต่อนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนเอกชน ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ถือได้ว่าเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้ครบถ้วนทุกกระบวนการที่กล่าวมา
ปัจจุบันประเทศกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา และการเรียนรู้ของคนไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อัตรากำลังคนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทยมีแนวโน้มลดลง และนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความสนใจศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ลดลง อีกทั้งผลการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชน ดังนั้นการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการมุ่งพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงถือเป็นโอกาสดีของโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ที่จะได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนในการจัดการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 สามารถพัฒนานักเรียนให้มีทักษะพื้นฐานในการสร้างความรู้ มีทักษะการดำรงชีวิตและมีคุณลักษณะของพลเมืองในศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์
นายทวีศักดิ์ อำลา กล่าวอีกว่า ตนขอขอบคุณสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน มาโดยตลอด พร้อมทั้งอนุเคราะห์ทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ ในการอบรมให้กับครูโรงเรียนเอกชนครั้งนี้ ขอชื่นชมผู้บริหารโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ที่เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้รับการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ขอให้ผู้เข้าอบรมทุกท่านนำไปปรับใช้ในการสอนเพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนให้เป็นผู้มีคุณลักษณะจำเป็นที่สามารถดำรงชีวิตได้ในโลกศตวรรษที่ 21 ต่อไป
นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปแบบห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน ร่วมกับ โรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ จำนวน 37 โรง ซึ่งจำแนกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 15 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 26 โรง เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563 ฌ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร นั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูผู้สอน ตามหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ สสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รายวิชา Math in Real Life ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาบุคลากรตามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนของครูในโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ให้สามารถจัดการเรียนการสอนในลักษณะบูรณาการรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการจัดทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ มาเป็นวิทยากรในการอบรม สำหรับผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น จำนวน 39 คน จาก 13 โรงเรียน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน