สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนร่วมงาน “ส้มสีทอง ประจำปี 2565” พร้อมลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จโครงการวิจัยที่ (วช.) ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยฯ โดยงานส้มสีทอง ประจำปี 2565 (วช.) ได้ร่วมจัดกับสำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งช้าง องค์กรส่วนท้องถิ่นอำเภอทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ณ บริเวณกาดนัดคลองถม อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2565 โดยมี นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน นายสุจิโรจน์ คงเมือง นายอำเภอทุ่งช้าง กล่าวต้อนรับ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มการผลิตไม้ผลเพื่อการตลาดบ้านวังผา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ส้มสีทองน่าน ในการอนุรักษ์และส่งเสริมรวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส้มสีทอง การเพิ่มมูลค่า สินค้าทางการเกษตร การกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรทุกพื้นที่ทุกตําบล เพื่อที่จะให้ชุมชนของเราได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน
งานส้มสีทองเป็นงานประจำปีที่จัดต่อเนื่องกันมาหลายปี ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ (วช.) ได้นำ “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารจากส้มสีทองน่านเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ชุมชนและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จังหวัดน่าน” ซึ่งมี ผศ.ดร.สุภาวดี ศรีแย้ม สาขาอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์มาแสดงที่บูธนิทรรศการในงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์วุ้นสวรรค์ส้มสีทอง ชาแยมส้มสีทอง เครื่องดื่มน้ำส้มสีทองผสมเกล็ดส้ม กาแฟส้มลาเต้ (แบบผงชงดื่ม) ผลิตภัณฑ์ส้มลอยแก้ว พุดดิ้งส้มสีทอง และผลิตภัณฑ์ชีสส้มสีทอง ซึ่งได้พัฒนาเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกประจำจังหวัดน่าน จากผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ นวัตกรรมอาหารจากส้มสีทอง น่าน ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มการผลิตไม้ผลเพื่อการตลาดบ้านวังผา และบริษัท โกลเด้น พีค โฮมฟูด จำกัด เป็นผู้ร่วมกันจัดจำหน่าย
ทั้งนี้ (วช.) ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารจากส้มสีทองน่านเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ชุมชนและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการผลผลิตของห่วงโซ่อุปทานส้มสีทองน่านด้วยเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม จังหวัดน่าน โดยมี นายบัญญัติ คำบุญเหลือ กรรมการผู้จัดการบริษัท สฤก จำกัด เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อจัดการวัตถุดิบต้นน้ำให้มีคุณภาพที่ดี ผลักดันผลผลิตทางการเกษตรส้มสีทองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่านให้เป็นที่รู้จัก สร้างกลไกทางการตลาดตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพดีสม่ำเสมอเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนในท้องถิ่น เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผศ.ดร.สุภาวดี ศรีแย้ม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ส้มสีทองน่าน ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยลักษณะเด่นที่แตกต่างจากส้มเขียวหวานทั่วไป เกิดจากสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้คาร์ทีนอยพิคเมนท์ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองเป็นเอกลักษณ์ของส้มสีทองน่าน มีรสหวาน เนื้อส้มแน่น ฉ่ำน้ำส้ม หอมอร่อยกว่าพันธุ์ดั่งเดิม ส้มสีทองจะออกผลผลผลิตในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เกษตรกรได้นำผลผลิตไปจำหน่าย
ในงานเทศกาลของจังหวัด เช่น งานฤดูหนาวประจำปี งานเทศกาลส้มสีทอง โดยงานวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารจากส้มสีทองน่านเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ชุมชนและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มการผลิตไม้ผลเพื่อการตลาดบ้านวังผา พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร สวนเกษตร ส้มสีทองและผลิตภัณฑ์แปรรูป จังหวัดน่าน โดยผสมผสานการท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche tourism) กับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร(Agri-tourism) ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food tourism) ให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงเรื่องราวของส้มสีทองน่าน การเรียนรู้วิถีชุมชนการปลูกส้ม การเก็บเกี่ยวผลผลิตส้ม สร้างรูปแบบอาหารเอกลักษณ์ของชุมชน
โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มการผลิตไม้ผลเพื่อการตลาดบ้านวังผา สู่การพัฒนา 3 ผลิตภัณฑ์จากส้มสีทอง ได้แก่ วุ้นสวรรค์ส้มสีทอง ชาแยมสีทอง และเครื่องดื่มน้ำส้มสีทองผสมเกล็ดส้ม ซึ่งมีผู้ประกอบการในพื้นที่ บริษัท โกลเด้น พีค โฮมฟูด จำกัด เป็นผู้รับรองการผลิตเชิงพาณิชย์ จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กาแฟส้มลาเต้ (แบบผงชงดื่ม) ผลิตภัณฑ์ส้มลอยแก้ว พุดดิ้งส้มสีทอง สร้างรายได้ให้กับชุมชนขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีในพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริง
กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมติดตามผลสำเร็จโครงการวิจัย ที่ได้มีการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร สวนเกษตรส้มสีทอง โดยการผสมผสานการท่องเที่ยวเฉพาะทางกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบข้อมูลเรื่องราวของส้มสีทอง ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต จนไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยได้เยี่ยมชม สวนส้มห่มรัก โดย นางหนิม ตันชูชีพ เจ้าของสวนส้มห่มรัก
นายธนัย บุญมาธิวัฒน์ เกษตรอำเภอทุ่งช้าง และนายบุญเหลื่อม จันต๊ะวงศ์ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มการผลิตไม้ผลเพื่อตลาดบ้านวังผา ให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวนับเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรไทยสู่สากลอย่างแท้จริง “ส้มสีทองของดีเมืองน่าน”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน