เพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเลือดผู้บริจาคที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ พร้อมต่อยอดวิธีการตรวจจีโนไทป์กับหมู่เลือดระบบอื่นต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย (วช.) ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาในทุกมิติ โดยเฉพาะในแผนงานวิจัยด้านยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ที่เป็นการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลสุขภาวะด้านการแพทย์ครบวงจรและภารกิจด้านสาธารณสุขเพื่อสุขภาพชีวิตและสังคม ซึ่ง (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยประจำปีงบประมาณ 2565 ในแผนงานวิจัยดังกล่าวฯ กับโครงการ “การพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton ด้วยวิธี high resolution melting ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยคนไทยโรคเลือดเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ”
โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ ณ ถลาง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton เพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเลือดผู้บริจาคที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ ณ ถลาง กล่าวว่า เนื่องจากหมู่เลือดระบบ Colton มีความสำคัญในทางคลินิก โดยแอนติบอดีของหมู่เลือดระบบนี้เป็นชนิด IgG เกิดปฏิกิริยาได้ดีในขั้นตอนของ antiglobulin test แต่เซลล์มาตรฐาน screening cells และ panel cells ที่ใช้ในการตรวจแยกชนิดแอนติบอดีที่พบในผู้ป่วย ยังไม่ได้มีการระบุชนิดของอัลลีล COA และอัลลีล COB เพราะไม่มีแอนติซีรัมจำหน่าย ทำให้เกิดปัญหาในการจัดหาเลือดผู้บริจาคที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ การตรวจจีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton ด้วยวิธี high resolution melting (HRM) ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยคนไทยที่เป็นโรคเลือดเรื้อรัง ที่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ ทั้งนี้เมื่อพัฒนาวิธีการตรวจได้สำเร็จ ผู้วิจัยจะทำการตรวจโดยใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้บริจาคและผู้ป่วยใส่ลงในชุดน้ำยาที่เตรียมขึ้นเอง และนำไปเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแล้ววิเคราะห์ผลผ่านเครื่อง HRM ซึ่งใช้เวลาเพียงสองชั่วโมง จึงสามารถระบุจีโนไทป์และทำนายว่าเป็นแอนติเจนชนิดใดได้
สำหรับจุดเด่นของงานวิจัยดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลความถี่ของอัลลีล COA และอัลลีล COB ในผู้บริจาคเลือดและผู้ป่วย ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้ จะสามารถนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติได้ รวมทั้งการตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS ต่อไป
ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ออกแบบไพร์เมอร์ที่จำเพาะกับอัลลีล COA และ COB ของหมู่เลือดระบบ Colton สำหรับการตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ด้วยวิธี DNA sequencing รวมทั้งศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการตรวจจีโนไทป์ด้วยวิธี HRM ร่วมกับวิธีพีซีอาร์เอสเอสพี (PCR-with sequence-specific primer, PCR-SSP) โดยได้ทำการตรวจในตัวอย่างดีเอ็นเอผู้บริจาคเลือดจำนวน 400 ราย พบว่า ผลการตรวจจีโนไทป์ของอัลลีลหมู่เลือดระบบ Colton ด้วยวิธี DNA sequencing ให้ผลตรวจที่ชัดเจนและถูกต้อง สามารถใช้เป็นตัวอย่างควบคุมคุณภาพของการตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ด้วยวิธี HRM และ PCR-SSP ได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาชุดตรวจทั้งสองวิธี
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้น คณะผู้วิจัยจะร่วมมือกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ประยุกต์ใช้วิธีการตรวจจีโนไทป์หมู่เลือดระบบอื่นเพิ่มเติม สำหรับการเตรียมเซลล์มาตรฐานในการตรวจแยกชนิดแอนติบอดีในผู้ป่วยที่มีปัญหาการจัดหาเลือดที่เข้ากันได้ยากต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน