ไต่สวนพยานจำเลย คดีจำนำข้าวนัดที่ 7 “ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เบิกความ โครงการรับจำนำข้าวอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วันที่ 9 ธ.ค.59 เวลา 09.30 น. ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะรวม9คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 7 คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ49ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า5แสนล้านบาท
โดยทนายความจำเลย เตรียมพยานให้ศาลไต่สวน2ปาก ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจและนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย
เมื่อถึงเวลาไต่สวน นายพันศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจฯ เบิกความตอบการซักถามอัยการโจทก์สรุปว่า ไม่ทราบเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าวและไม่ทราบถึงการซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ขณะที่ นายพันศักดิ์ เบิกความตอบทนายความจำเลยว่า การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเคลื่อนไหว มีแรงกระเพื่อม ไม่ว่าเงินที่นำมาใช้นั้นจะเป็นในส่วนใดผลก็คือก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภค ส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้รักษาระดับการจ้างงานคงอยู่ การดำเนินโครงการสาธารณะเปรียบเหมือนการนำเงินของประชาชนเอาไปให้ประชาชน โดยผลสุดท้ายเงินก็จะย้อนกลับสู่รัฐในรูปของภาษี
การใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการนี้มีเหตุผล จะคงไว้ซึ่งความสงบของบ้านเมืองและความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะมีการระบุรายได้ย้อนกลับมาเท่าใด แต่ความมั่นคงทางบัญชีและความสงบของบ้านเมืองจะส่งผลกลับมาที่ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในบริบทโลกที่ผันผวนในขณะนั้น ซึ่งประเทศไทยได้พึ่งพิงการส่งออกกว่าร้อยละ 70 สิ่งสำคัญคือต้องทำให้อัตราการเติบโตภายในประเทศที่เหลือมีความนิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การอัดฉีดหรือกู้เงินเพื่อสร้างเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ โครงการจำนำข้าวเป็นการนำเงินเข้าสู่ในระบบและหิ้วระบบไว้ไม่ให้ล้ม ส่วนที่ว่าโครงการจำนำข้าวจะเป็นภาระต่อประเทศหรือไม่นั้น นายพันศักดิ์ระบุว่า โครงการจำนำข้าวเป็นภาระที่ควรจะมีและรัฐบาลควรจะบริหารภาระเพื่อประชาชน
ส่วนพยานจำเลยอีกปาก คือนายเรืองไกร อดีต ส.ว.นั้น อัยการโจทก์ไม่ติดใจซักถามพยาน
โดย นายเรืองไกร พยาน เพียงแต่เบิกความตอบทนายความจำเลยถึงประเด็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2558 ในวันที่18พ.ค.58 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานซึ่งมีการระบุถึงพล.อ.ประยุทธ์ ประธาน นบข.ได้สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาส่งฟ้องในเดือน ก.พ.59 โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นความยุติธรรมว่า พยานได้ข้อมูลมาจากการค้นหาผ่านเว็บไซต์กูเกิ้ล ซึ่งมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงขออนุญาตอ่านเอกสารฉบับเต็มดังกล่าวเพื่อเบิกความในประเด็นได้อย่างถูกต้อง โดยองค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาตให้นำเอกสารเกี่ยวกับการประชุม นบข. ดังกล่าวให้พยานจำเลยอ่านและอนุญาตให้ทำคำเบิกความมายื่นในภายหลังได้ พร้อมกำชับให้ทนายจำเลยบริหารจัดการพยานเพื่อนำมาเบิกความต่อศาลได้ทันกำหนด 21 ก.ค.60 ซึ่งตามระบบราชการศาลไม่อาจเลื่อนการพิจารณาออกไปไกลกว่านี้ได้อีก
ภายหลัง ทนายความจำเลย ไต่สวนพยานทั้งสองปากวันนี้เสร็จสิ้นแล้ว
ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไป ในวันที่14ธ.ค.59
ภายหลังนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า ในวันนี้ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยมีคำสั่งในคำร้องที่พนักงานอัยการ โจทก์ ยื่นคำร้องกรณีถูกคุกคาม ซึ่งองค์คณะได้มีคำสั่งให้ตั้งสำนวนไต่สวนละเมิดอำนาจศาล โดยให้มีองค์คณะ 3 คน เป็นผู้ไต่สวน พร้อมทั้งออกหมายเรียก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ เต่านาและผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งราย ซึ่งตนจำชื่อสกุลไม่ได้ เพื่อมาไต่สวนต่อไป