โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดให้บริการเฟสที่ 1 แล้ว ขนาด 426 เตียง ให้บริการทางการแพทย์โดยใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ระดับตติยภูมิ เป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลของภาคใต้ตอนบน
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ร่วมกัน เปิดโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขนาด 426 เตียง เพื่อให้บริการทางการแพทย์โดยใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมี พระครูภัทรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขาเหล็ก รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ นพ.สุทธิพจน์ ชยณัฐพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษาและสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ขนาด 750 เตียง ด้วยงบประมาณ 5,600 ล้านบาท เพื่อเป็นโรงเรียนแพทย์จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษากลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์แก่พี่น้องประชาชนภาคใต้ตอนบน ซึ่งการดำเนินการในเฟสที่ 1 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,023 ล้านบาท แบ่งเป็นงบก่อสร้างจำนวน 2,128 ล้านบาทและงบตกแต่งภายใน 895 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 84,000 ตรม.
“ขณะนี้การก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เฟสที่ 1 ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขนาด 426 เตียง พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ตอนบน ด้วยวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล คือ เป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับตติยภูมิขั้นสูงที่มีคุณภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ในภาคใต้ตอนบน” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติฯ กล่าว
ด้านผอ.รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ มีการเปิดบริการคลินิกรักษาโรคต่างๆ กว่า 15 คลินิก และมีการให้บริการในแผนกต่างๆ ได้แก่ แผนกผู้ป่วยในพิเศษรวม,แผนกผู้ป่วยในพิเศษเดี่ยว,แผนกผู้ป่วยวิกฤต,Intermediate care Unit,แผนกห้องคลอด,แผนกทารกแรกคลอด,แผนกห้องผ่าตัดและวิสัญญี,แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน,แผนกสร้างเสริมสุขภาพ,แผนกเภสัชกรรม,แผนกห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และแผนกรังสีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีการตรวจด้วยเครื่อง MRI (เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า),CT Scan (เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์),Fluoroscopy (เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ระบบดิจิทัล),Mammogram (การถ่ายเอกซเรย์เต้านม),Bone Densitometry(การตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก) และUltrasound (เครื่องอัลตราซาวนด์) เป็นต้น
“โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมให้บริการ 426 เตียง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพและการบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูงที่มีมาตรฐาน และด้วยปณิธานในการดูแลผู้ป่วยทุกคนดุจญาติมิตร เพราะทุกเวลาของเราคือการดูแลคุณ “Your life is my Life” ผอ.รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าว
ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิการรักษาต่างๆ ได้แก่ สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรง,สิทธิรัฐวิสาหกิจ,สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.),สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรทอง 30 บาท (เฉพาะนักศึกษา),สิทธิชำระเงินเอง,สิทธิประกันชีวิต บริษัท FWD บริษัทกรุงไทย-แอกซ่าไทยประกันชีวิตและอยู่ระหว่างการขยายสิทธิการรักษาให้ครอบคลุมไปยังบริษัทอื่นๆอีกหลายบริษัท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0 7547 9999 เว็บไซต์ https://hospital.wu.ac.th/ เพจเฟซบุ๊ก Walailak University Hospital ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน