วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนารูปแบบและกลไกการดำเนินงานและการให้บริการของกรุงเทพมหานคร นำไปสู่การบริหารจัดการที่มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น โดยมีกรอบความร่วมมือครอบคลุมเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก (สวทช.) เพื่อประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนในด้านระบบการศึกษาและสาธารณสุข โดยมี ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงานแถลงข่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความยินดีขยายความร่วมมือกับ (สวทช.) ในครั้งนี้ เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก (สวทช.) ไปใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและภารกิจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา การเดินทาง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการ ทั้งนี้การได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนากลไกการดำเนินงานและการให้บริการของกรุงเทพมหานคร จะช่วยให้การบริหารจัดการแก้ปัญหาเมืองทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และสามารถพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความพร้อมที่จะพัฒนาความร่วมมือ 5 ด้าน กับ (สวทช.) เพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ (สวทช.) พัฒนาขึ้น ได้แก่
1.การบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร
2.การตรวจแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine
3.การศึกษาทางไกล เรื่องสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ให้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน
4.ด้าน Open DATA เปิดเผยข้อมูลโปร่งใส
และ
5.เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาฝุ่นและขยะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ ใช้เทคโนโลยีในการช่วยทำงาน ซึ่งไปใช้ประโยชน์จะช่วยการปฏิรูปการทำงานของระบบราชการ จากการทำงานที่เคยเป็นแบบระบบท่อ ก็เปลี่ยนเป็นการรับเรื่องแก้ปัญหาอยู่บนแพลตฟอร์มและช่วยกันให้บริการประชาชน ซึ่งมีการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีโดยที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่จำเป็นต้องสั่งการด้วยตัวเอง ที่สำคัญทุกคนสามารถเห็นว่าทุกคำร้องใช้เวลานานเท่าไหร่ในการแก้ไขปัญหา และมีความโปร่งใสเท่าเทียมกันบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) เป็นขุมพลังหลักของประเทศ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ และ (สวทช.) พร้อมสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการพัฒนาเมืองอย่างเต็มที่ ดังตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น การบริหารจัดการเมืองในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โดยกรุงเทพมหานครได้นำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue พัฒนาโดยเนคเทค (สวทช.) ไปใช้ในการดูแลด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านบริหารจัดการ เช่น การรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งจุดเสี่ยง ความสะอาด การบริหารจัดการข้อมูลของเมือง
“นอกจากนี้ (สวทช.) ยังมีผลงานวิจัยที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้พี่น้องประชาชน เช่น ระบบ A-MED Telehealth แพลตฟอร์บริการทางการแพทย์ทางไกล ตัวช่วยบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มสีเขียวและเหลือง ในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 รวมกว่า 1.3 ล้านคน ครอบคลุม 1,500 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และเตรียมขยายผลสู่ A-MED Care โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม ร้านยาคุณภาพ สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคทั่วไป โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ช่วยลดการเดินทางและค่าใช้จ่ายผู้ป่วย รวมถึงลดความแออัดให้แก่สถานพยาบาล ปัจจุบันมีร้านขายยาในกรุงเทพมหานครที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 600 ร้าน สามารถดูแลผู้ป่วยกว่า 10,000 คน อย่างไรก็ดี (สวทช.) พร้อมใช้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี รวมถึงแพลตฟอร์มบริการต่างๆ เพื่อเป็นแรงเสริมสำคัญด้านวิชาการที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานครให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
สำหรับงานวิจัยที่ (สวทช.) โดยเนคเทค ได้นำร่องใช้กับกรุงเทพมหานคร อาทิ แพลตฟอร์มรับเรื่องและบริหารจัดการเมือง หรือ Traffy Fondue โดยประชาชนแจ้งปัญหาผ่าน Chatbot ทาง Line Application : @traffyfondue ซึ่งระบบจะวิเคราะห์ปัญหาและส่งไปให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ช่วยให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงตามความต้องการของประชาชน ปัจจุบันมีผู้เข้ามาแจ้งปัญหาในกรุงเทพมหานครมากกว่า 180,000 เรื่อง ได้รับการแก้ปัญหาแล้วกว่า 120,000 เรื่อง (อ้างอิงข้อมูล www.traffy.in.th)
นอกจากนี้ในด้านการให้บริการสาธารณสุข เนคเทค (สวทช.) ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์หลังบ้านเพื่อส่งต่อผู้ป่วยจากระดับปฐมภูมิไปยังระดับทุติยภูมิ และส่งต่อไปยังตติยภูมิหรือหน่วยงานเฉพาะทาง และสามารถส่งต่อระหว่างจากหน่วยปฐมภูมิ (e-Referral) สู่โรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถติดตามข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยทั้งสองฝั่งแบบ Real Time และส่งกลับเพื่อการรักษาได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รองรับการทำงานการรับส่งต่อผู้ป่วยเพื่อดูแลต่อที่บ้าน (Home Health Care) ช่วยลดปัญหาความแออัดในการใช้บริการของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครใช้งานระบบ e-Referral แล้ว 7 แห่ง ได้แก่
1.รพ.กลาง
2.รพ.เจริญกรุงประชารักษ์
3.รพ.ตากสิน
4.รพ.ราชพิพัฒน์
5.รพ.สิรินธร
6.รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ และ
7.รพ.วชิรพยาบาลมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน