วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้เครือข่าย Big Brothers จัดการฝึกอบรมการส่งเสริมอาชีพชุมชนใต้แนวสายส่ง การเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม (วช.) เป็นประธานเปิดงานฯ
ในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานฯ นายสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับฯ และมีศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ เจ้าของสวนสวน “นา 3 ดี” ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และนายปราการ คชรินทร์ วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง บ้านทับมา จังหวัดระยอง เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ณ ศูนย์เรียนรู้สวน “นา 3 ดี” อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ด้วยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง” เพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิติและรายได้ของชุมชน และพัฒนาแบรนด์ “ชันโรงระยอง”,”ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงขอนแก่น” ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่าย Big Brother หรือ พี่เลี้ยง
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม (วช.) กล่าวว่า การเลี้ยงผึ้งชันโรงสามารถเป็นอาชีพเสริมได้ เนื่องจากประเทศไทยส่งออกน้ำผึ้งปีนึงเป็นหมื่นๆ ตัน ได้เงินเข้าประเทศประมาณ 600 ล้านบาท ส่งไปประเทศแคนนาดา,ประเทศอเมริกา,ประเทศไต้หวัน,ประเทศมาเลเซีย และ ประเทศอินโดนีเชีย นำไปทำเครื่องสำอาง ทำยา วันนี้โชคดีที่ได้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ร่วมกับ (วช.) ศึกษาการเลี้ยงผึ้งชันโรง และนำมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ได้มีบทบาทสำคัญบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนองค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรมนำไปประโยชน์และพัฒนาประเทศ โครงการการเลี้ยงผึ้งชันโรง ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโลโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่วิจัยเรื่องนี้ และช่วยนำงานวิจัยมาช่วยพัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดการอบรมเลี้ยงผึ้งชันโรงไปแล้ว 2 พื้นที่ คือ ที่จังหวัดระยอง และจังหวัดสมุทรปราการ สำหรับจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่ 3 ที่เครือข่ายช่วยกับขับเคลื่อน เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นงานวิจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น เพราะว่าผึ้งชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปทำเครื่องสำอาง ทำยา และถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี (วช.) ไม่เพียงสนับสนุนแค่องค์ความรู้ในการเลี้ยงผึ้ง แต่ (วช.) ยังจะสนับสนุนให้น้ำผึ้งชันโรงถูกผลิตไปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ ขณะเดียวกันการเลี้ยงผึ้งชันโรง หากมีปัญหาเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อม (วช.) ก็จะให้นักวิจัยช่วยคิดค้นสูตรอาหารที่จะมาเสริมในช่วงที่อาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอในช่วงฤดูฝน เพื่อให้สามารถผลิตน้ำผึ้งได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง” ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหัวหน้าทีมวิจัย และมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง โดย ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ เป็นผู้ดูแลโครงการฯ
นายสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า (กฟผ.) ได้ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเน้นเรื่องเกษตรชีววิถีที่ (กฟผ.) ส่งเสริมอยู่ 30 กว่าแห่ง ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมอาชีพ แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ยั่งยืน เกษตรพื้นฐานยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ (กฟผ.) จึงนำสมาร์ทฟาร์มเข้ามา ตอนนี้เพิ่งเริ่ม พอดีมาเห็นโครงการเลี้ยงผึ้งชันโรง ผึ้งเล็ก รายได้แจ่ม (กฟผ.) ไม่มีความรู้เรื่องผึ้งชันโรงเลย จึงมีความสนใจและมองเห็นหนทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อีกทาง และสามารถอยู่ร่วมกับเกษตรดั้งเดิมได้ เพราะฉะนั้น (กฝผ.) จึงอยากเห็นความสำเร็จของโครงการนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่อยู่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทาง (กฟผ.) สนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยากเห็นมานานแล้วที่จะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ เป็นผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวว่า โครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง” เป็นการนำจุลินทรีย์ที่คัดแยกจากรังผึ้งชันโรงสายพันธุ์ถ้วยดำในภาคเหนือมาพัฒนาเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติก ผสมกับอาหารเสริมหลักที่มีเกสรผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำเปล่า เป็นส่วนประกอบ และมีกากถั่วเหลือง ถั่วเหลืองอบไขมันเต็ม และโปรตีนสำเร็จรูป เป็นส่วนประกอบเสริมทำให้ผึ้งชันโรงมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตสูง เพิ่มการสร้างตัวอ่อนในรังและสร้างถ้วยน้ำหวานเพิ่มขึ้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มผลผลิตและสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ทั้งปีอันจะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงต่อมาอาหารเสริมสำหรับผึ้งชันโรงจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่อื่นของประเทศและมีความต้องการในการต่อยอดขยายผล ผึ้งชันโรงแต่ละสายพันธุ์มีความต้องการอาหารที่จำเพาะและแตกต่างกัน โดยสูตรอาหารเสริม ดังกล่าวข้างต้น ถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคเหนือโดยจำเพาะสายพันธุ์ถ้วยดำ
นายกิตติ สิงหาปัด กล่าวว่า กิจกรรมที่นา 3 ดี ในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจาก กฝผ. และ (วช.) ที่ร่วมกันสนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่มาศึกษา และเริ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง การเลี้ยงผึ้งชันโรงดูเหมือนจะเลี้ยงไม่ยาก ถ้าเลี้ยงสำเร็จชุมชนจะได้ประโยชน์แน่นอน เพราะว่าจะได้เป็นอาชีพเสริม แล้วจริงๆ ผึ้งชันโรงมีประโยชน์กับสภาพแวดล้อม ถือว่าเป็นสิ่งชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ด้วย
ภายในงานมีทั้งการเสวนา “มุมมองคุณค่าการส่งเสริมการเลี้ยงชันโรง ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการบรรยาย “ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชันโรง การเตรียมความพร้อมก่อนเลี้ยงชันโรง โรค ศัตรู และปัญหาที่มักพบในการเลี้ยงชันโรง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผึ้งชันโรง” การบรรยาย “การจัดการรัง การเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง การแยกขยายพันธุ์ผึ้งชันโรง และการเก็บเกี่ยวผลผลผลิตผึ้งชันโรง” รวมทั้งการสาธิต “การแยกขยายพันธ์และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากผึ้งชันโรง” อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน