วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.15 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.) เขต 4 สระบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรีจัดพิธีลงนามข้อตกลงการดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรภาพ จังหวัดลพบุรี เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการและการให้บริการ ฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพแบบครบวงจร ที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลันและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในจังหวัดลพบุรีได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีลงนาม และนางอรพิน จิระพันธุ์วานิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยนายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.)เขต 4 สระบุรี นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี และนายอุดมศักดิ์ บุญอร่ามพงษ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.)เขต 4 สระบุรี ร่วมลงนามข้อตกลง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นสักขีพยาน
นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.) เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 แนวทางบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เพิ่มบทบาทสนับสนุนจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.) เสนอแนวทางปรับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับจังหวัด รองรับการถ่ายโอน รพ.สต. สนับสนุนด้านสุขภาพของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดใน อนาคต สำหรับแนวทางการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปี 2566 นั้นเน้นเรื่องประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยวงเงินที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.)สมทบไม่เกิน 8 บาทต่อประชากรสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพิ่มการสนับสนุนการจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ผู้มีสิทธิในพื้นที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ยังไม่เข้าร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.) หรือในพื้นที่ที่เงินกองทุน กปท.ไม่พอใช้ ก็สามารถใช้งบจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสนับสนุนได้ โดยขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.)อยู่ระหว่างออกหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัติและจะประชาสัมพันธ์ให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทราบต่อไป
ในส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปชส.) เขต 4 สระบุรี รับผิดชอบ 8 จังหวัด ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนครบ 100 % และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าเกิดระบบดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ครอบคลุมเกินกว่ามิติสุขภาพ ในบางพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุน Long Term Care (การดูแลด้านสาธารณสุขแบบระยะยาว) ซึ่งทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี สามารถใช้กลไกของกองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปช่วยดูแลเพิ่มเติมได้
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ