จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีทอดผ้าป่าสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 มีคณะสงฆ์ ประชาชน และภาคีเครือข่ายร่วมอนุโมทนากว่า 3,195,495 บาท เพื่อสนองพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์ไทย ตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9
วันที่ 14 พ.ย. 65 เวลา 08.30 น. ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีทอดผ้าป่าสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพระสังฆาธิการ พระเถรานุเถระ ประกอบพิธี รวม 10 รูป โดยมี นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้อง สมาคม ชมรม องค์กร นักเรียน และประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมในพิธี
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระมหากรุณาให้จัดพิธีทอดผ้าป่าเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลอุทิศถวายเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้พระราชทานก่อตั้งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย สำหรับการทอดผ้าป่าสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้ร่วมอนุโมทนาถวายปัจจัยและหน่วยงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ ในเบื้องต้น เป็นเงินจำนวน 1,195,495 บาท วัดตะโก 1,000,000 บาท วัดพนัญเชิงวรวิหาร 1,000,000 บาท ผ่านคณะสงฆ์หนกลาง รวมเป็นยอดเงินบริจาคร่วมสมทบทุนทั้งสิ้น 3,195,495 บาท (สามล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันสี่ร้อยเก้าสิบห้าบาทถ้วน)”
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวในช่วงท้ายว่า โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 พร้อมพระราชทานทุนปฐมฤกษ์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรให้ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรมให้ลึกซึ้งแตกฉาน มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาขั้นสูงจากสถาบันพุทธศาสนาในประเทศ และนำไปเผยแผ่เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจและความคิดในการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน โดยผู้รับทุนจะต้องเป็นพระภิกษุ หรือ สามเณรที่มีสัญชาติไทยมีศีลาจารวัตรที่งดงามตามพระธรรมวินัย มีความประพฤติเรียบร้อย มีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จหลักสูตร และมีจิตอาสา โดยต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของโครงการฯ และของสถานศึกษาที่ศึกษาอยู่ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1. ทุนศึกษาบาลีชั้นสูง (แบบต่อเนื่อง) เปรียญธรรม 6 – 9 ประโยค 2. ทุนระดับอุดมศึกษา (แบบต่อเนื่อง) ด้านพุทธศาสตร์ ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก 3. ทุนหลักสูตรอบรมพระนักเทศน์ 4. ทุนหลักสูตรอบรมพระวิปัสสนาจารย์ และ 5. ทุนหลักสูตรอบรมพระธรรมจาริก
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ