(8 พ.ย.65) เมื่อเวลา 15.00 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (คตจ.) แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำแถลงของนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเท็จในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค.65 นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวชี้แจงปมสร้างสภา ระบุว่าปฏิบัติตามขั้นตอนตรวจสอบได้ ขอฝ่ายการเมืองหยุดข่มขู่กรรมการตรวจงานนั้น
นายวัชระ กล่าวว่า ในฐานะที่นางพรพิศเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐและเป็นคู่สัญญากับผู้รับจ้าง ตามพรบ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 จึงขอแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำแถลงของนายภาคภูมิ ที่เป็นเท็จในประเด็นต่าง ๆ และไม่เป็นการตอบข้อสงสัยของสังคมดังนี้
- การที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ อ้างว่า นายวัชระ เพชรทอง และนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับโครงการนั้นไม่เป็นความจริง เพราะโครงการนี้สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชนสูงถึง 12,280 ล้านบาท มีการทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 เม.ย.56 ตนและนายวิลาศเป็น ส.ส. จึงมีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบโครงการนี้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 มาตรา 50 ,63,78 ให้อำนาจหน้าที่ประชาชนชี้เบาะแสการทุจริตแก่ ป.ป.ช. และแจ้งแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
- บริษัท ซิโน-ไทยฯ กล่าวหาว่าเป็นความพยายามสกัดขัดขวางการส่งมอบงานนั้นเป็นความเท็จอย่างชัดเจน เพราะตามสัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย.56 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การส่งมอบงานนั้นการก่อสร้างต้องเสร็จสมบูรณ์ 100% แต่เมื่องานไม่เสร็จสมบูรณ์ ประชาชนผู้พบเห็นย่อมมีสิทธิทักท้วงต่อทางราชการ โดยบริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ทำหนังสือส่งมอบงานแล้วเสร็จ 100% เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 ตนจึงได้ยื่นหนังสือถึงนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคตจ. เมื่อวันที่ 4 ก.ค.65 ในห้องประชุมฯ และส่งหนังสือแจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ทราบในวันเดียวกัน ผลการประชุมคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ไม่รับมอบงานจากบริษัท ซิโน-ไทยฯ
- บริษัท ซิโน-ไทยฯ อ้างการก่อสร้างมีความซับซ้อน ยากที่คนนอกอุตสาหกรรมจะเข้าใจถือเป็นความเท็จ เพราะสิ่งที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ตรวจพบคือการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบและข้อกำหนดในสัญญาซึ่งได้ส่งหนังสือแจ้งนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะคู่สัญญาให้ทราบเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องแต่นางพรพิศรับทราบแล้วเพิกเฉยมากกว่า 20 เรื่อง นายวิลาศจึงไปยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเรื่องการทุจริตต่อไป
4.บริษัท ซิโน-ไทยฯ อ้างว่าได้มีการซ่อมแซมแก้ไขนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างตามสัญญาอยู่แล้วที่ต้องส่งมอบงานเสร็จสมบูรณ์ 100% ตามสัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย.56 ข้อ 35.1 และผนวก 9 ข้อ 20.2 แต่บริษัท ซิโน-ไทยฯ ไม่ทำทั้งหมด เช่น ลิฟท์ฝั่ง สว. 3 ตัว ที่เสียเนื่องจากฝนตกน้ำรั่วและท่วมลงมาที่ลิฟท์ 3 ตัว บริษัทซิโน-ไทยฯ ทำหนังสือถึงสภาฯ ปฏิเสธที่จะแก้ไขให้ลิฟท์ฝั่ง สว.จึงใช้ไม่ได้จนถึงวันนี้ - บริษัท ซิโน-ไทยฯ อ้างว่ามีกระบวนการกดดันและสร้างกระแส ทำให้การตรวจรับงานไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นเท็จ เพราะถ้าบริษัท ซิโน-ไทยฯ ทำอย่างตรงไปตรงมา ก่อสร้างตามแบบและสัญญาทุกประการ ก็ไม่มีผู้ใดปฏิเสธที่จะไม่รับงานได้ และที่ผ่านมาอาจมีกระบวนการการครอบงำข้าราชการให้ปฏิบัติในสิ่งที่ขัดต่อหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล เช่น นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคตจ. เรียกประชุมเฉพาะกรรมการเสียงข้างมากเข้าประชุมร่วมกับเอกชนและบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่เชิญกรรมการเสียงข้างน้อย 3 คนเข้าประชุมด้วย ส่อเจตนาอะไรและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนายสาธิต กล่าวในที่ประชุมว่าการตรวจสอบไม้ทุกแผ่นในสภาว่าตรงตามสเปคหรือไม่นั้น ให้ผู้ร้องเรียนเป็นคนออกค่าใช้จ่าย ทั้งที่ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง เหตุใดจึงไม่ให้กรมป่าไม้ตรวจสอบไม้ทุกแผ่นว่าตรงตามข้อกำหนดหรือไม่ และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สั่งการให้คตจ.ตรวจสอบไม้ทุกแผ่นแล้วเมื่อวันที่ 21 มี.ค.65 คตจ. ได้ปฏิบัติตามหรือไม่
- บริษัท ซิโน-ไทยฯ อ้างว่าหากมีกระบวนการกลั่นแกล้งนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีการกลั่นแกล้งใด ๆ ทั้งสิ้น ประชาชนธรรมดา ๆ จะไปกลั่นแกล้งบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมากล้นได้อย่างไร แต่ตนและนายวิลาศได้ทำหน้าที่พลเมืองดีปกป้องเงินภาษีของประชาชนและประเทศชาติ
- นายภาคภูมิ ศรีขำนิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ แถลงว่าบริษัทฯ ได้ทำงานตามแบบและตามสัญญานั้นเป็นเพียงข้ออ้างของบริษัท ซิโน-ไทยฯ เพราะความจริงคือ ไม่ทำตามสัญญาและข้อกำหนดดังนี้
7.1 บริษัท ซิโน-ไทยฯ มีการจ้างช่วงโดยจ้างบริษัท เพาเวอร์ไลน์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 3,000 ล้านบาท และบริษัทอื่น ๆ ผิดสัญญาชัดเจนเพราะไม่เคยได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าจ้างเลย ได้แจ้งให้ประธานรัฐสภาและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบแล้ว
7.2 ไม้ตะเคียนทองตามข้อกำหนดในสัญญาไม้ยาว 3 เมตร จำนวน 27,300 แผ่น กรมป่าไม้ตรวจสอบและเป็นไม้พะยอม และมีใบเสร็จจากโรงไม้ที่บริษัทซิโน-ไทยฯ นำส่งปรากฏเป็นไม้กระยาเลย 6,500 แผ่น นางพรพิศมีคำสั่งให้ตรวจสอบไม้ทุกแผ่น ขณะนี้คณะกรรมการตรวจการจ้างยังไม่ตรวจสอบหรือตรวจสอบช้ามาก
7.3 เสาไม้สักรอบสภา 4,200 ต้น ขึ้นราและแตกร้าว 2,400 ต้น และไม้ครบอายุที่จะนำมาใช้งานหรือไม่
7.4 ผนังห้องประชุมกรรมาธิการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ มีเจตนาสร้างผิดแบบเพราะบริษัทผู้ควบคุมงาน บริษัทที่ปรึกษา บริษัทผู้ออกแบบเห็นตรงกันว่าผิดแบบ แต่ผู้รับจ้างมีเจตนาสร้างผนังผิดแบบถึง 65 ห้องของฝั่ง ส.ส. และทำตามแบบ 48 ห้องที่ฝั่ง สว. สุดท้ายนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติให้ตามบริษัท ซิโน-ไทยฯ ที่สร้างผิดแบบ
7.5 ผู้รับจ้างมีเจตนาสร้างประตูห้องกรรมาธิการผิดแบบจำนวน 148 บาน โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พูดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 พ.ย.65 แจ้งว่าคตจ.โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างดำเนินการเปลี่ยนประตูห้องของห้องประชุมกรรมาธิการ 148 บาน ให้เป็นไปตามรูปแบบรายการตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
7.6 หินวิทิตา หินทราโวทีน ไม่เป็นไปตามแบบ หินแกรนิตสีดำสีไม่สม่ำเสมอ
7.7 เสาไฟสูง 15 เมตร เกือบ 100 ต้น ไม่เป็นไปตามแบบคือ หล่ออัลลอยด์ทั้งต้น แต่เป็นเหล็กแผ่นม้วนแล้วเชื่อมเป็นเสา
7.8 สายไฟฝังดิน 2,700 เมตร ไม่ทำตามแบบ ไม่มีทรายรองพื้น ไม่มีแผ่นปูนปิดทับ
7.9 ต้นไม้ที่ตายจำนวนนับร้อยต้นยังไม่มีการปลูกใหม่ ถ้าปลูกใหม่ต้องทำตามข้อกำหนดในสัญญาคือใช้เวลา 8+8 เดือน เท่ากับ 16 เดือน ต้องใช้ต้นไม้ขนาดตามข้อกำหนดในสัญญา บริษัท ซิโน-ไทยฯ มาขอลดงานปลูกต้นไม้ซึ่งเจตนาไม่ต้องเสียค่าปรับในเวลา 16 เดือนนั่นเอง ค่าปรับงานก่อสร้างล่าช้าวันละ 12,280,000 บาท
7.10 ลานออกกำลังกายดาดฟ้าชั้น 5 แตกร้าว น้ำท่วมขัง ไม่ได้มาตรฐาน
7.11 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แตกร้าว เป็นตะไคร่ ลื่นมีแอ่งน้ำขัง ราวจับเป็นสนิม
7.12 ตอนฝนตกมีน้ำรั่วตามเพดานชั้นต่าง ๆ และมีน้ำซึม น้ำไหล โคนเสาคอนกรีตตอม่อชั้นใต้ดินบี 2 จำนวน 23 ต้น และเกิดตาน้ำ น้ำซึมลานจอดรถและห้องจัดเลี้ยงชั้นบี 2 กว่า 100 จุด
7.13 ดินถมอาคารรัฐสภาฯ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด มีการนำเอาขยะ ยางรถยนต์เททับถมแทนดินและอื่น ๆ
- บริษัทเซ็นสัญญาก่อสร้าง 900 วัน วงเงิน 12,280 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเกือบหมดแล้วได้ขยายเวลาก่อสร้างถึงสิ้นปี 2563 ขัดมติคณะรัฐมนตรีที่ให้สร้างให้เสร็จภายในปี 2562 ได้ขยายเวลาก่อสร้าง 4 ครั้ง รวม 1,864 วันถึงวันที่ 8 พ.ย.65 เป็นวันก่อสร้างสภาวันที่ 3,441 วัน ต้องคิดค่าปรับจำนวน 677 วัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ
- เว็บไซต์เกี่ยวกับงานก่อสร้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีไว้ทำไม ไม่เคยลงข้อมูลใหม่ที่เป็นปัจจุบันหรือแจ้งประเด็นสำคัญแม้แต่น้อย
นายวัชระ ย้ำว่า ถ้าทางราชการจะไม่ปรับบริษัท ซิโน-ไทยฯ แม้แต่บาทเดียว ต้องถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน บริษัท ซิโน-ไทยฯ กล้ารับประกันหรือไม่ว่าน้ำจะไม่รั่วอีกทั้งหลังคาและชั้นใต้ดิน การที่ผู้แทนบริษัท ซิโน-ไทยฯ มาแถลงไม่ตรงต่อความเป็นจริงเช่นนี้
มีธรรมาภิบาลหรือไม่จึงขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานคตจ.รับทราบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายต่อทางราชการ และภาษีอากรของประชาชนมิให้เกิดขึ้นมากเกินไปกว่านี้