ทำความเข้าใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องการสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ทั้ง 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี
กรุงรัตนโกสินทร์ สงบร่มเย็นอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมานานกว่า 230 ปี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาราชวงศ์และขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2325 จวบจนบัดนี้ มีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้วทั้งสิ้น 9 รัชกาล
ทั้งนี้การสืบราชสมบัติเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ที่จะทรงกำหนดยกราชสมบัติให้แก่ผู้ใด โดยในกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงกำหนดตำแหน่งซึ่งเคยมีมาในสมัยอยุธยาขึ้นมาใหม่คือ ตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” (วังหน้า) แทนตำแหน่ง “พระมหาอุปราช” ซึ่งจะเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อไปในทำนองรัชทายาท และเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมา จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นมาแทน
รัชกาลที่ 1 : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครองราชย์ 27 ปี (6 เมษายน พ.ศ. 2325-7 กันยายน พ.ศ. 2352)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 (วันที่ 20 เดือน 4 ตามปีจันทรคติ) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ตำแหน่งเสมียนตรากรมมหาดไทย ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก) บุตรีของคหบดีชาวจีน
เดิมทรงตั้งพระอนุชา คือ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์แรก เพื่อสืบราชสมบัติ แต่เสด็จทิวงคตลงเสียก่อน จึงได้ทรงตั้งพระราชโอรส คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ฉิม) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์ที่สอง และได้สืบราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 2 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประชวรด้วยโรคชรากระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ขณะพระชนมพรรษา 73 พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติ 27 ปี
รัชกาลที่ 2 : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครองราชย์ 15 ปี (7 กันยายน พ.ศ. 2352-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชสมภพเมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เวลาเช้า 5 ยาม ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายฉิม”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายฉิม” ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้น และดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ทรงครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี ก็ทรงประชวรด้วยโรคพิษไข้ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา
รัชกาลที่ 3 : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ 27 ปี (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367-2 เมษายน พ.ศ. 2394)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาไลย) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมมีพระนามว่า พระองค์เจ้าชายทับ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และได้เสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 จนถึงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สิริพระชนมายุ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี
รัชกาลที่ 4 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ 17 ปี (6 เมษายน พ.ศ. 2394-1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 43 และลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 2 มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงเป็นพระอนุชาต่างพระราชมารดากับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้นพระชนมพรรษาได้ 21 พรรษา ได้ออกผนวชตามพระราชประเพณี แต่ผนวชได้เพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงออกผนวชต่อจนกระทั่งรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระราชมารดา ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์
ดังนั้นในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระมหาอุปราช) หรือที่ออกพระนามกันว่า “วังหน้า” มีพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทว่าเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประชวรสวรรคต พระชนมพรรษา 58 พรรษา
ในปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรหนัก และทรงทราบว่าพระอาการครั้งนี้คงจะไม่หาย จึงได้มีพระบรมราชโองการมอบพระราชกิจให้พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ 3 คน ช่วยดูแลพระนครโดยไม่ทรงเอ่ยว่าจะให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์แทนพระองค์ กระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต สิริพระชนมพรรษา 64 พรรษา ดำรงราชสมบัติ 17 ปี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งเป็นพระมเหสี
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต โดยที่มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพียงแต่มีพระราชหัตถเลขาว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้าจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ขอให้ท่านผู้ใหญ่ปรึกษากันสุดแล้วแต่จะเห็นสมควร ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ จึงได้ประชุมกันและเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ให้อัญเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีแรกในรัชกาล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน กระทั่งมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา จึงได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยกเลิกตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” โดยมีพระราชหัตถเลขาอธิบายว่า “ผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็ไม่อาจที่จะเข้าใจตำแหน่งนั้นได้ชัดเจน…เป็นตำแหน่งลอยอยู่ มิได้มีคุณต่อแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่ต้องใช้เงินแผ่นดินซึ่งจะต้องใช้รักษาตำแหน่งยศพระมหาอุปราชอยู่เปล่าฯ”
จากนั้นทรงแต่งตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร อันเป็นตำแหน่งรัชทายาทขึ้นมาแทนที่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก แต่สิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สอง และต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการ เมื่อทรงพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา รวมระยะเวลาครองสิริราชสมบัติ 42 ปี
รัชกาลที่ 6 : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ 15 ปี (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453-26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต
พระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 โดยในวันดังกล่าว พระองค์ทรงเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่งกับการสูญเสียพระชนม์ชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) แท้ ๆ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ชุมนุมอยู่ จึงต้องคุกพระชงฆ์ลงกับพื้นกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ 15 ปี ได้มีพระอาการประชวรด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมพรรษา 45 พรรษา หลังจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระประสูติกาลพระราชธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดา พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพียงวันเดียว
รัชกาลที่ 7 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ 9 ปี (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468-2 มีนาคม พ.ศ. 2477)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงมีศักดิ์เป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง ร่วมพระราชมารดากับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรและเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชหัตถเลขานิติกรรมเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติไว้ ความตอนหนึ่งว่า หากมีพระโอรสก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ) เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงได้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ขึ้นสืบราชบัลลังก์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แม้พระองค์ไม่ทรงเต็มพระทัยนัก ด้วยทรงเห็นว่าพระองค์ไม่แก่ราชการเพียงพอและเจ้านายที่มีอาวุโสพอจะรับราชสมบัติก็ยังน่าจะมี
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญ พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รวมเวลาครองราชสมบัติ 9 ปี 3 เดือน 4 วัน และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษโดยกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม คือ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา จนสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะพระชนมมายุ 48 พรรษา
อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่มีพระราชโอรส-พระราชธิดา และหลังจากสละราชสมบัติก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท เพื่อให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง ซึ่งตามลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ระบุว่า เจ้านายลำดับที่ 1 แห่งการสืบสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์คือ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระอัครมเหสี หากไม่มีหรือสิ้นพระชนม์แล้วให้อัญเชิญพระโอรสองค์ถัดไปตามลำดับพระชนมายุ หรือหากไม่มีอีกก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ถัดไปในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับอาวุโส
แต่หากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์หมดแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็สิ้นพระชนม์ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิสริยยศแห่งพระมารดา
ด้วยเหตุนี้เมื่อนับตามลำดับสืบราชสันตติวงศ์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ได้สิ้นพระชนม์ลงทั้งหมดแล้ว เช่นเดียวกับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ได้สิ้นพระชนม์ลงทั้งหมดเช่นกัน รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) พระโอรสองค์สุดท้อง ที่สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 พรรษา
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ยังมีพระโอรสอยู่ 2 พระองค์ ที่ประสูติแต่หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดล และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป
รัชกาลที่ 8 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครองราชย์ 12 ปี (2 มีนาคม พ.ศ. 2477-9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หรือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงเป็นพระโอรสองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) กับหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ โรงพยาบาลเมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี และเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะพระชนมพรรษาได้ 8 พรรษา 5 เดือน 11 วัน จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
กระทั่งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร กระทั่งปี พ.ศ. 2481 พระองค์ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครองราชย์อยู่เพียง 12 ปี 99 วัน ก็ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยทรงต้องพระแสงปืน ณ ห้องพระบรรทม พระชนมพรรษา 20 พรรษา
รัชกาลที่ 9 : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครองราชย์ 70 ปี (9 มิถุนายน พ.ศ. 2489-13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ เสด็จพระราชสมภาพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ต่อจากพระเชษฐา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่สร้างคุณอนันต์ให้แก่ราษฎรชาวไทย พระราชทานโครงการในพระราชดำริกว่า 2,000 โครงการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย และทรงมีพระปรีชาสามารถ เปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทั้งในด้านดนตรี กีฬา และด้านภาษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระอาการประชวรเรื้อรังมาเป็นเวลานาน และคณะแพทย์ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ พระองค์ประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 กระทั่งในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักพระราชวัง มีประกาศเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติ 70 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้นำความโศกเศร้ามาสู่พสกนิกรชาวไทยอย่างสุดคณานับ
ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการสถาปนาให้ทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาท ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งรัฐสภาจะได้อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป โดยพระองค์ทรงรับสั่งไว้ว่า ขอเวลาทำพระทัยและแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนทั้งประเทศก่อน และขอเวลาสำหรับกระบวนการของกฎหมายในการอัญเชิญขึ้นสืบราชสมบัตินั้นให้รอเวลาที่เหมาะสม โดยหลังจากที่พระองค์ทรงทำพระทัยแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนและทรงนึกถึงพระราชบิดา
ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี
– รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2
– รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
– รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระบรมเชษฐา (พี่ชายต่างพระราชมารดา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
– รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
– รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และทรงเป็นพระราชอัยกา (ปู่) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
– รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระบรมเชษฐา (พี่ชายร่วมพระราชมารดา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และทรงเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
– รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และทรงเป็นพระปิตุลา (อา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
– รัชกาลที่ 8 ทรงเป็นพระบรมเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9