(6 พ.ย.65 )นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พ.ย.65 ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอทราบความคืบหน้าผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ และขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย สืบเนื่องจากคณะกรรมการตรวจการจ้าง (เสียงข้างน้อย) โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ เสนอให้ตรวจสอบรายละเอียดของการกระทำผิดสัญญาทั้งหมดของผู้รับจ้าง เนื่องจากพบว่าใช้ไม้ชนิดพะยอมปูพื้นอาคารแทนไม้ตะเคียนทอง ต่อมาเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 21 มี.ค.65 ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าไม้พะยอมที่นำมาใช้คิดเป็นประมาณร้อยละเท่าใด มีความเสียหายร้ายแรงอย่างไร และที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (CAMA) เสนอความเห็นว่าเมื่อพบข้อพิรุธการใช้ไม้ชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่ไม้ตะเคียนทองตามกำหนดในสัญญา แม้ผู้ควบคุมงานได้สุ่มตรวจโดยใช้หลักสถิติที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องตรวจสอบไม้ปูพื้นเป็นตามสัญญาหรือไม่ ขณะเดียวกันขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับพวกว่า กระทำการส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ กรณีลดสเปคผนังห้องประชุมกรรมาธิการ จำนวน 113 ห้อง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหลักบริหารสัญญาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นั้น
นายวัชระ จึงได้สอบถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
1.คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อสั่งการของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 มี.ค.65 หรือไม่ ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร แต่หากคณะกรรมการฯ ยังไม่ดำเนินการ ขอให้สั่งการเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำชับคณะกรรมการฯ ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
- ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับพวก กระทำการส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ กรณีลดสเปคผนังห้องประชุมกรรมาธิการ จำนวน 113 ห้อง หรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร ที่สำคัญเมื่อวันที่ 2 พ.ย.65 เวลา 9.30น. นายชวนได้พูดที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแจ้งเพื่อทราบว่า “ปิดช่องทางเดินบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารรัฐสภา ขอเรียนสมาชิกในเรื่องความไม่สะดวกดังต่อไปนี้ ด้วยคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้มีการสั่งการให้ผู้รับจ้างดำเนินการเปลี่ยนประตูห้องของห้องประชุมกรรมาธิการ 148 บาน ให้เป็นไปตามรูปแบบรายการตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปิดช่องทางเดินระหว่างอาคารชั้น 3 และชั้น 4 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ส่วน N) และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ส่วนหน้าโซน S บางส่วน เพื่อให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินงาน หากสมาชิกหรือผู้เกี่ยวข้องประสงค์จะเข้าในบริเวณอาคารส่วนกลางขอความกรุณาใช้ทางเดินชั้น 1 และชั้น 2 เท่านั้น ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่างานจะแล้วเสร็จ ก็เรียนเรื่องความไม่สะดวกบางเรื่องอันเกี่ยวข้องจากข้อตกลงสัญญาจ้างครับ”
ดังนั้น เท่ากับเป็นข้อเท็จจริงยืนยันว่าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ยังสร้างไม่เสร็จและบริษัทผู้รับจ้างสร้างผิดแบบจริงตามที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีการแก้ไขสร้างให้ถูกแบบตามข้อร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งหากนับถึงวันที่ 4 พ.ย.65 นับ เป็นการก่อสร้างวันที่ 3,437 วัน ผิดนัดการขยายเวลาสิ้นสุดมาแล้ว 673 วัน ค่าปรับวันละ 12,280,000 บาท ผู้ว่าจ้างจะคิดค่าปรับผู้รับจ้างหรือไม่ ถ้าคิดค่าปรับจะคิดค่าปรับจำนวนกี่วัน จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ.2554 ได้ทราบและพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายและสัญญาการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการและภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ