“แบงก์ชาติ” เตรียมหารือสมาคมธนาคารไทย หวังตั้งหน่วยงานช่วยเจรจาประนอมหนี้ ในส่วนที่ไร้หลักประกัน ทั้ง บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อจัดตั้งกลไกการแก้ปัญหาหรือการเจรจาประนอมหนี้ให้กับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน(Unsecured Loans) เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือ หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้การประนอมหนี้เกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับทุกฝ่าย
“เราอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการสร้างการบริหารจัดการหนี้ที่เป็น Unsecured Loans ซึ่งหลายๆ ประเทศก็มีคล้ายๆ กันนี้ โดยเป็นกระบวนการร่วมกันระหว่างสมาคมแบงก์กับเจ้าหนี้ที่มีข้อตกลงร่วมกัน เพราะเวลาที่เป็นหนี้ Unsecured Loans การประนอมหนี้ ผู้ถือบัตรเครดิตต้องวิ่งไปทีละแบงก์ ทั้งที่เป็นแคชโฟล์เดียวกัน”
นายวิรไท กล่าวว่า นอกจากการจัดให้มีกลไกการเจรจาประนอมหนี้แล้ว ธปท.จะจัดให้มีกลไกที่คอยดูแลไม่ให้ลูกหนี้อาศัยช่องทางเหล่านี้มาเจรจาประนอมหนี้เพื่อหวังจะก่อหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะคอยตรวจสอบดูแลความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ย้ำอยู่ตลอดว่า ควรขายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่เน้นของสินค้าที่ตรงกับความต้องการของคนขาย
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กลไกการประนอมหนี้ส่วนนี้ อาจตั้งเป็นลักษณะศูนย์จัดการหนี้ขึ้นมา โดยในสัปดาห์ที่3ของเดือนธ.ค. สมาคมธนาคารไทยจะนำเรื่องดังกล่าวมาหารือร่วมกัน ก่อนจะลงนามความร่วมมือในต้นปีหน้าและนำมาใช้ได้ เบื้องต้นคงเป็นโมเดลที่สร้างขึ้นเองไม่ได้ใช้โมเดลจากประเทศอื่น ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่เป็นข้อตกลงในการสร้างกลไกประนอมหนี้โดยไม่ต้องมีกฏเพิ่ม เพราะแต่ละธนาคารก็มีทฤษฎีอยู่แล้ว
นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี จำกัด กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เพราะในต่างประเทศก็พอมีให้เห็น แต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควร โดยประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักคือเรื่องของการเกลี่ยหนี้ให้กับเจ้าหนี้แต่ละรายจะเป็นอย่างไร
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะ เจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูเมอร์ และ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การที่ธปท.จะเป็นผู้ติดตามหนี้ หรือศูนย์กลางทวงหนี้ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในฐานะที่ธปท.เป็นผู้กำกับแบงก์และคนกลาง เพราะลูกค้าอาจมีหนี้หลายธนาคาร
อย่างไรก็ตามหากเป็นในแง่ของการช่วยไกล่เกลี่ยหนี้หรือ เป็นตัวกลางประนอมหนี้ อาจเกิดขึ้นได้ และช่วยลูกหนี้และเจ้าหนี้แต่ทั้งนี้ต้องดูกลไก เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในความเป็นจริง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือต้นทุนในการตามหนี้ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
“เป็นเรื่องที่ดี แต่ทำได้ยาก จะมีความยุติธรรม ในการตามหนี้ ได้หรือเปล่า หากเป็นหนี้ก่อนหลัง ลูกหนี้จะจ่ายคืนเท่ากัน หรือไม่ เหล่านี้ต้องมีกลไลชัดเจน เพื่อช่วยให้ลูกค้าคุยทีเดียว ไม่ต้องคุยกับหลาย ๆ แบงก์ แบงก์เองก็ลดภาระการตามหนี้ลงเพราะที่ผ่านมาการตามหนี้ขึ้นกับแต่ละแบงก์คุยกันเอง แบงก์ก็พยายามดึงให้จ่ายของตัเองก่อน แต่หากรวมกันแล้วใครจะตามหนี้ก่อน และมูลหนี้แต่ละแบงก์ก็อาจไม่เท่ากันจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบที่ต้องดูว่าจะจัดการอย่างไร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1% เป็นระดับสูงสุดรอบ 11 ปี ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.94%