วันที่ 25 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน”
ในงานวันคล้ายวันสถาปนา (วช.) ครบรอบ 63 ปี
63 ปี (วช.) มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ ณ โรงยิมจิตต์มิตรภาพ อาคาร วช. 9 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.)
ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา (วช.) ครบรอบ 63 ปี เพื่อประชาสัมพันธ์ บทบาท ภารกิจ หน้าที่ของ (วช.) และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ โดยยกระดับโอกาสเข้าถึงฐานข้อมูล ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมต่อสาธารณชน ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมระหว่างกัน และเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
(วช.) จึงนำโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ที่สนับสนุนทุนให้นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ มาถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในงานด้านต่างๆ รวมถึงจะก่อให้เกิดพัฒนาด้านการศึกษาให้เกิดการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ สร้างนวัตกรในประเทศ ให้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเทคโนโลยี ด้านการบินในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล กล่าวว่า การจัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมจริง
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล กล่าวต่อว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก (วช.) จนประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร กล่าวได้ว่าเป็น “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย เป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และแพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone) ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ
การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ในงานวันคล้ายวันสถาปนา (วช.) ครบรอบ 63 ปี นี้ ได้จัดอบรมจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25–26 ตุลาคม 2565 ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27–28 ตุลาคม 2565 ณ โรงยิมจิตต์มิตรภาพ อาคาร วช. 9 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน