“กรมชลประทาน” เปิด ปัจฉิมนิเทศ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า จ.ลำปาง ระดมประชาชน และองค์กรท้องถิ่น ร่วมแสดงความคิดเห็น เตรียมนำข้อเสนอแนะ ประมวลผลจัดทำแผนพัฒนาโครงการ วางเป้าหมายทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากโครงการ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน สู่ภาคเกษตร และการอุปโภคและบริโภคให้เพียงพอ
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 : นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า” อําเภอเถิน จังหวัดลําปาง เพื่อนำเสนอข้อมูลและสรุปแผนการศึกษา ความก้าวหน้าจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ที่นำไปสู่การรับฟังข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาโครงการจากประชาชน และหน่วยงานในท้องถิ่นเกี่ยวข้อง เพื่อนําข้อมูล และข้อสรุปที่ได้ไปประกอบการวิเคราะห์ และศึกษาเพิ่มเติม ถึงแนวทางเลือก และรูปแบบการพัฒนาโครงการ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และ คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เพื่อนำไปสู่แผนการพัฒนาโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
สำหรับขอบเขตพื้นที่ศึกษาของโครงการ จะพิจารณาให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำตามแผนงานการพัฒนาโครงการทั้งระบบ ตั้งแต่พื้นที่รับน้ำ พื้นที่เหนือน้ำ พื้นที่หัวงาน พื้นที่ท้ายน้ำ และพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 ตําบล ประกอบด้วย ตําบลล้อมแรด,ตําบลเถินบุรี และตําบลแม่ปะ อําเภอเถิน จังหวัดลําปาง ซึ่งปัจจุบันกรมชลฯ ได้ทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนนำไปสู่การจัดทำข้อสรุปแผนการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป
ดังนั้นในการระดมความเห็นครั้งนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลในรายละเอียด ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ การก่อสร้าง สภาพแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ป่าไม้ สุขอนามัย การพัฒนาโครงการจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม ของคนในพื้นที่ รวมไปถึงการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ และแผนการพัฒนาฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วจะนำไปสู่การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมถึงแผนการชดเชยทรัพย์สินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ
ด้านนายสันติ รังษิรุจิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การพัฒนาโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ ที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำในทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน ใช้ในการบังคับน้ำ และกักน้ำในช่วงฤดูฝน รองรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง และยังเป็นแหล่งน้ำสําหรับการอุปโภคและบริโภคของประชาชนในพื้นที่ให้เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการในมิติต่างๆ ทั้งในด้านตำแหน่งที่ตั้งโครงการ รูปแบบของอาคารของประตูระบายน้ำ การวางระบบชลประทานที่เข้ามาเชื่อมต่อที่มีความเหมาะสมในการกระจายน้ำไปยังแหล่งพื้นที่การเกษตรให้ทั่วถึง
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทางเลือกต่างๆเบื้องต้น ของโครงการ ออกแบบเป็นอาคารประตูระบายน้ำ มีบานประตูระบายน้ำชนิดเหล็กตรง ขนาดกว้าง 10 เมตร สูง 9 เมตร จำนวน 8 ช่อง มีระดับท้องลำน้ำ +154 เมตร ระดับธรณีบานประตู +155 เมตร ระดับน้ำเก็บกักปกติ +163 เมตร ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 4.41 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกัก 812.50 ไร่
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน