เมื่อมีข่าวกล่าวถึงพิษของต้นตีนเป็ดน้ำกันมากขึ้น หลายคนเริ่มสงสัยว่า เจ้าต้นตีนเป็ดน้ำนี้มีพิษอย่างไร ส่วนไหน และเมื่อถูกพิษเข้าให้แล้วจะปฐมพยาบาลอย่างไร มาดูกันค่ะ
ต้นตีนเป็ดน้ำ หรือตีนเป็ดทะเล เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความที่มีลำต้นขนาดเล็ก ไปจนถึงสูงใหญ่ได้ถึง 35-40 เมตร ปลูกง่าย ออกดอกส่งกลิ่นหอมแรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะออกมาเกือบตลอดปี ในหลายสถานที่บ้านเราจึงมีแผงต้นตีนเป็ดอยู่ริมห้วยหนองคลองบึงต่างๆ
ต้นตีนเป็ดน้ำ มีพิษที่ส่วนใดบ้าง?
เมล็ดของต้นตีนเป็ด เป็นหนึ่งในส่วนที่มีพิษ แม้ว่าตะมีรสขม แต่เมื่อนำไปบดผสมกับอาหารที่มีรสจัด ก็สามารถกลบรสขมของมันได้ โดยเมล็ดของต้นตีนเป็ดมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจในปริมาณมาก โดยเข้าไปรบกวนการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจวายได้ หากไม่มีได้รับการพิสูจน์ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ อาจไม่พบสาเหตุว่ามาจากเมล็ดของต้นตีนเป็ด จนถึงขั้นที่ต้นตีนเป็ดน้ำ หรือตีนเป็ดทะเลนี้ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า Suicide Tree หรือต้นไม้ฆ่าตัวตายเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยางจากต้น ใน และเนื้อในผลของต้นตีนเป็ด หากมีการรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เช่นกัน
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อถูกพิษต้นตีนเป็ด
เริ่มแรกหากรู้ตัวว่าทานพิษเข้าไป ยังมีสติ และหายใจได้เอง ให้หงายศีรษะ เอาสิ่งแปลกปลอมเช่นอาหาร หมากฝรั่ง ฟันปลอม ออกจากช่องปากก่อน ในกรณีที่อาเจียน ให้ล้วงเอาอาเจียนออกมาด้วย และตามด้วยน้ำเปล่า 4-5 แก้ว เพื่อลดความเข้มข้นของพิษ หากไม่อาเจียน สามารถล้วงคอให้อาเจียนได้ และเก็บอาเจียนเอาไว้ให้แพทย์ตรวจที่โรงพยาบาลด้วย
แต่หากผู้ป่วยเริ่มชัก หรือหมดสติ ไม่รู้สึกตัว อย่าพยายามทำให้อาเจียน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ และพยายามปั้มหัวใจ หรือผายปอด หากผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น
หากไม่แน่ใจว่าได้รับสารพิษอะไร หรือต้องทำอย่างไร สามารถโทร 1669 ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความช่วยเหลือได้ค่ะ
ต้นตีนเป็ด มีสรรพคุณอะไรบ้าง?
แม้ว่าจะมีพิษร้ายแรงที่ฟังดูน่ากลัว แต่ต้นตีนเป็ดก็ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหากใช้ให้ถูกวิธี เพราะเปลือกของลำต้นตีนเป็ด เมื่อนำมาต้มดื่มจะสามารถบรรเทาอาการไอ ลดไข้ ลดอาการหวัด ไปจนถึงแก้ท้องเสีย ขับพยาธิ และรักษาโรคลักปิดลักเปิดได้
หากนำเปลือกของลำต้นตีนเป็ดมาบด หรือต้มอาบ ก็สามารถใช้ทารักษาแผลติดเชื้อ เป็นหนอง และป้องกันโรคเชื้อราบนผิวหนังได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยางของลำต้นตีนเป็ด ยังใช้ทารักษาแผลเน่าเปื่อย ใช้ผสมยาสีฟัน เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ผสมกับน้ำมันแก้ปวดหู และใช้เป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร และเป็นยาบำรุงร่างกายหลังมีไข้ได้อีกด้วย
พิษของต้นตีนเป็ดไม่ได้เข้าสู่ร่างกายกันได้ง่ายๆ แต่ถึงกระนั้นการระมัดระวังอาหารการกินก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะฉะนั้นหากทำอาหารทานเอง หรือเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถืออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก newscientist.com, medthai.com, ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา