สปท. ชงนายกฯตั้ง “กปช.” ป้องกันภัยทางอินเตอร์เน็ต ให้อำนาจ “ทหาร” แก้สถานการณ์วิกฤตภัยไซเบอร์คุกคามความมั่นคง
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับผลการศึกษาฯ ของกมธ.ปฏิรูปฯ สื่อสารมวลชน พบข้อกังวลต่อภาวะอันตรายและความเสี่ยงที่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตของประเทศจะถูกโจมตี จารกรรมข้อมูล และมีโอกาสถูกทำลายให้เกิดความเสียหายหรือไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยระหว่างที่ไม่มีกลไกหรือหน่วยงานใดทำหน้าที่ป้องกันและวางแผนรับมือภัยคุกคามดังกล่าว จึงมีข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.)
ที่ประกอบด้วย นายกฯ หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน, กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 7 คน
เพื่อทำหน้าที่ปกป้อง ป้องกัน กำหนดแผนยุทธศาสตร์ และรับมือกับภัยคุกคามจากภัยทางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ของประเทศ ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณายังไม่มีผลบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับข้อสังเกตของกมธ.ฯสื่อสารมวลชน ต่อเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ….ที่ ครม. เตรียมเสนอให้ สนช. พิจารณาตราเป็นกฎหมายนั้น มีสาระสำคัญ คือ ปรับโครงสร้างของ กปช. ให้นายกฯ เป็นประธาน จากเดิมที่ร่างกฎหมายกำหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารสั่งการเชิงนโยบายระดับชาติ ขณะที่อำนาจของ กปช. ควรปรับ จำนวน 2 ประเด็น คือ
1.)ให้สิทธิแก่ฝ่ายทหารเข้าดำเนินการตามกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ในสถานการณ์ขณะนั้น หากเกิดวิกฤตร้ายแรงที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทางทหาร จากเดิมที่ร่างกฎหมายเสนอให้ กปช. กำหนดแนวทางและมาตการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างทันท่วงที เว้นแต่ภัยคุกคามที่กระทบความมั่นคงทางทหาร
2.)ให้กปช. มีอำนาจมอบหมาย หรือสั่งการให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยสนับสนุนกรณีเกิดเหตุวิกฤตหรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบด้านอื่น ๆ จากเดิมที่ระบุหน้าที่เพียงสั่งการหรือประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ปฏิบัติตามนโยบายหรือแผนรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ขณะที่วาระของกรรมการ กปช. ควรปรับเพิ่มเป็น 4 ปีจากที่ร่างกฎหมายระบุให้มีวาระ 3 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่ต่อเนื่อง กรณีที่เปลี่ยนกรรมการ กปช. เร็วไปอาจส่งผลต่อความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ต่อแผนหรือมาตรการต่าง ๆ