เมื่อ 27 มิ.ย. ประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชงโก แห่งยูเครน เซ็นลงนามข้อตกลงด้านการค้าและการเมือง
กับสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “สมาคมข้อตกลงอียู-ยูเครน” อย่างเป็นทางการ ที่กรุงบรัสเซลส์
ประเทศเบลเยียม เช่นเดียวกับประเทศจอร์เจียและมอลโดวา อดีตเครือสหภาพโซเวียต
ซึ่งโปโรเชงโกเผยว่า
ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของยูเครนนับแต่ได้รับเอกราชจากรัสเซีย โดยข้อตกลงครั้งยิ่งใหญ่
นี้จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจการค้าของยูเครนเข้าถึงกลุ่มประเทศสมาชิกอียูทั้ง 28 ประเทศได้ง่ายดายขึ้น
ในเรื่องกำแพงภาษีทางการค้า อีกทั้งมีส่วนในเรื่องคุ้มครองบริเวณชายแดนและความมั่นคงของชาติไปโดยปริยาย
นายกริกอรี คาราซิน รมช.ต่างประเทศรัสเซีย แถลงเตือนด้วยความไม่พอใจไปถึงรัฐบาลยูเครนว่าให้ระวังผล
ที่ตามมาอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ก็เผยว่า
รัฐบาลจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์และเศรษฐกิจของประเทศ
วันเดียวกัน กษัตริย์อับดุลเลาะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีนัดประชุมร่วมกับนายจอห์น แคร์รี
รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เมืองเจดดาห์ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมืองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ในซีเรีย ซึ่งลุกลามรุนแรงมากขึ้นจากกลุ่มมุสลิมสุหนี่หัวรุนแรงสุดโต่ง “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์”
(ไอเอสไอแอล) จนลุกลามไปถึงอิรัก ประเทศเพื่อนบ้าน หลังประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
ยื่นของบประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 16,000 ล้านบาท) ต่อ ส.ส.ในสภาเพื่อช่วยในเรื่อง
การซ้อมรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกบฏซีเรียเพื่อปกป้องชาวซีเรีย ถือเป็นการขยับท่าทีครั้งสำคัญว่า
สหรัฐฯ เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมความขัดแย้งทั้งซีเรียและอิรัก
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนร่วมปฏิบัติแผนซ้อมรบทางทะเล นอกเกาะฮาวายของสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อเรียกว่า
“แปซิฟิคริม” (อาร์ไอเอ็มพีเอซี) ตลอดระยะเวลา 5 สัปดาห์ ถือเป็นครั้งแรกที่จีนยอมร่วมฝึกซ้อม
กับคู่กรณีพิพาทหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีทั้งหมด 23 ประเทศ ยกเว้นประเทศไทย
ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า เป็นการระงับความร่วมมือครั้งนี้ชั่วคราว
นับแต่เกิดเหตุก่อรัฐประหารของไทยวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา.