วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) ร่วมกับ บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด จัดแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมรถพยาบาลแรงดันลบ โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ภก.ชาญชัย อุดมลาภธรรม ประธานบริหาร บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด ร่วมเป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย นายอัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (สวทช.)
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการวิจัยและพัฒนาจะช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการลงทุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการยกระดับและสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม (สวทช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ตอบโจทย์ BCG มิติการพึ่งพาตนเองและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยได้ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย บทบาทของ (สวทช.) จะร่วมกับกรมการแพทย์ในการดำเนินการวิจัย พัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ
นายอัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (สวทช.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเป็นจำนวนมาก โดยในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสู่สถานพยาบาลอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านละอองฝอยหรือผ่านทางอากาศได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บุคลากรทางการแพทย์ และลดการแพร่กระจายออกสู่ภายนอกรถพยาบาล ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (สวทช.) และ บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด จึงร่วมกันออกแบบพัฒนาวิจัยต้นแบบห้องแยกโรคติดเชื้อทางอากาศสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาระบบความดันลบภายห้องพยาบาลของรถพยาบาล ซึ่งมีหลักการทำงานคือภายในห้องพยาบาลรถฉุกเฉินจะต้องสามารถสร้างแรงดันภายในห้องมากกว่าแรงดันภายนอก เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกและป้องกันสิ่งแปลกปลอมไหลเข้ามาภายในห้องพยาบาลรถฉุกเฉิน โดยได้นำความรู้จากคณะผู้วิจัย (สวทช.) ที่มีความรู้ ความสามารถด้านการออกแบบ วิเคราะห์งานทางวิศวกรรม และประสบการณ์ในการประกอบกิจการจำหน่ายยาและเครื่องมือแพทย์ของบริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด มากว่า 50 ปี ดำเนินการวิจัยพัฒนาร่วมกัน จนได้นวัตกรรมรถพยาบาลแรงดันลบเพื่อใช้ประโยชน์และสร้างความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุข
“ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม หน่วยงานภายใต้ (สวทช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และแก้ปัญหาทางวิศวกรรม ได้ร่วมมือกับ บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด ร่วมมือกันวิจัยพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมรถพยาบาลแรงดันลบนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือช่วยส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาด้านอุปกรณ์การแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข ลดการนำเข้านวัตกรรมทางการแพทย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”
ภก.ชาญชัย อุดมลาภธรรม ประธานบริหาร บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด กล่าวว่า การเสริมสร้างนวัตกรรม ถือเป็น ค่านิยม หรือเป็น DNA ของบริษัท R.X.จำกัด ซึ่งเราเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการช่วยชีวิตในภาวะฉุกเฉิน โดยบริษัทฯ มีวิสัยทัศน์คือ “สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเลิศ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อทุกคน” โดย REXCUER เป็นชื่อเรียกรถพยาบาล ของบริษัท ที่เราได้ผลิตออกจำหน่ายก่อนช่วงโควิด ในตอนแรกเรามีการพัฒนาในเรื่องความปลอดภัย โดยผลิตรถพยาบาลที่ยึดอุปกรณ์ต่างๆ ทนแรงกระแทกได้ถึง 10G หลังจากการระบาดของ โควิด-19 ทางบริษัท ก็ได้ร่วมมือกับ (สวทช.) ในการพัฒนาต้นแบบห้องแยกโรคติดเชื้อทางอากาศสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในขณะลำเลียง รับส่งผู้ป่วยโควิด นอกจากนี้ เรายังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการนำ Zinc Nano มาเคลือบบนผิววัสดุตบแต่งในรถพยาบาล ด้วยมาตรฐานการวิจัยค้นคว้าและการทดสอบของ (สวทช.) จนกระทั่งรถพยาบาลระบบแรงดันลบได้สำเร็จลุล่วงและได้รับอนุสิทธิบัตร ซึ่งทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมนี้จะมีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิดและเชื้อโรคติดเชื้อต่างๆ ไม่ให้แพร่ไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติงานในรถพยาบาล
นอกจากนี้ภายในงานเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานแถลงข่าวชมนวัตกรรมรถพยาบาลแรงดันลบ และนวัตกรรมด้านการแพทย์ของ บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด และ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (สวทช.) อย่างไรก็ดีการเปิดตัวนวัตกรรมรถพยาบาลแรงดันลบในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการผนึกกำลังและใช้จุดแข็งของทั้งสององค์กร ทั้งความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยของ (สวทช.) และความเชี่ยวชาญด้านยาและเครื่องมือแพทย์ของ บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นการตอบโจทย์งานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถนำนวัตกรรมมาคิดค้นพัฒนาเครื่องมือเพื่อตอบสนองต่อปัญหาต่อโรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านสุขภาพของประชาชน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน