(10 ต.ค.65)นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องที่ร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา กรณีสมาชิกวุฒิสภา มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนสิบตำรวจโทหญิงกระทําการทารุณทหารหญิง และมีการใช้อำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ฝากบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจและข้าราชการทหาร หรือไม่นั้น น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา มีหนังสือแจ้งตอบกลับมาว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 14/2565 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ได้มีมติรับเรื่องร้องเรียนของดังกล่าวไว้พิจารณา และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 นายวัชระได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ นั้น
คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ในคราวประชุมครั้งที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 มีมติให้พิจารณาครั้งแรกวันที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 9.00 น. ตามข้อ 20 วรรคหนึ่ง ของระเบียบว่าด้วยการยื่นเรื่องร้องเรียน การรับเรื่องร้องเรียน การนําเรื่องเข้าสู่การพิจารณา และวิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา พ.ศ. 2563 โดยผู้ร้องอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องร้องเรียนที่ยื่นไว้แล้วได้ แต่ต้องเป็นสาระสำคัญอันควรแก่การแก้ไขเพิ่มเติมและเกี่ยวกับเรื่องเดิม โดยให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการฯ ก่อนวันพิจารณาครั้งแรกดังกล่าว แต่คณะกรรมการฯ จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร
นายวัชระ กล่าวว่า เลขาธิการวุฒิสภายังแจ้งว่ามีหนังสือแจ้งไปยังผู้สว.ผู้ถูกร้องเรียนด้วย แต่ไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าสว.คนดังกล่าวจะไปตามที่คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภาเชิญหรือไม่ แต่ตนเองจะไปตามที่เลขาธิการวุฒิสภาแจ้งมา ถือว่าทำหน้าที่แทนประชาชนผู้เสียภาษี เพราะประชาชนมีความรู้สึกว่าสนช.หรือสว.เป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มีเงินเดือนและสิทธิประโยชน์เทียบเท่าส.ส. และใช้ภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเงินเดือนให้กิ๊ก ใช้อภิสิทธิ์ฝากกิ๊กเป็นตำรวจ คนรับใช้กิ๊กเป็นทหาร มีตำแหน่งเกี่ยวโยงในสนช.และสว.มีเงินเดือนซ้ำซ้อน พากิ๊กไปราชการต่างประเทศ เป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชน