วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมพระนารายณ์ ชั้น 4 อาคารรัตนเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บรรยายพิเศษส่งเสริมองค์ความรู้ในหัวข้อ “ชาติไทยและสถาบันหลักของชาติ”โดยมี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นำจิตอาสาพระราชทานในพื้นที่จังหวัดลพบุรี เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ทุกภาคส่วนของจังหวัดลพบุรี อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกรักและหวงแหน มุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยหลักในการสร้างลักษณะเฉพาะของคนในชาติหรือประเทศชาติ คือ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งโครงสร้างสังคม มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับครอบครัว (เรือน/เฮือน) และตระกูล เพราะความกตัญญูรู้คุณและการตอบแทนบุญคุณท่าน ความสัมพันธ์ตรงนี้แน่นมาก รวมถึงความเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน สายเลือดเข้มกว่าสายน้ำ คุณธรรมเป็นตัวหล่อหลอมให้เกิดความมั่นคง และความมั่นคงเป็นปัจจัยทำให้เกิดความยั่งยืนยืนยาว “เราต้องช่วยกันทำให้ระบบครอบครัวอบอุ่น สิ่งที่ดีงามของครอบครัวกลับขึ้นมาอีกเหมือนสมัยก่อน” เพราะเมื่อครอบครัวอบอุ่น จะส่งผลให้สภาพสังคมเข้มแข็ง, ระดับชุมชน คือ ความมีน้ำใจต่อกันและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ทุกคนมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และระดับเมือง สิ่งที่จะทำให้เมืองมีความมั่นคง คือความสามัคคีของคนในเมือง”
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ยังได้กล่าวถึง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”และพระราชดำรัส อาทิ ข้าราชการทุกคนต้อง“ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง แม้ว่าการสร้างคนดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่”ทำให้ประชาชน “พึ่งตนเองได้” ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ พึ่งตนเองด้านจิตใจ คือ มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและส่วนรวม, พึ่งตนเองด้านสังคม คือ ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ คือ ต้องมุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยึดหลักพอ พออยู่ พอกิน พอใช้ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับพื้นฐาน
สถาบันหลักของชาติ
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ