นอกจากคลิปไอศกรีมร้านหนึ่งในประเทศไทย ที่แชร์กันในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีข่าวจากต่างประเทศ ที่วัยรุ่นรายหนึ่งต้องเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะหลังจากที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีไนโตรเจนเหลวผสมอยู่ หลายคนเริ่มสงสัยว่าสารเคมีดังกล่าวคืออะไร ใช้ทำอะไร และเราควรระมัดระวังมากแค่ไหน ไปหาคำตอบกันค่ะ
ไนโตรเจนเหลว คืออะไร?
ไนโตรเจนเหลว เป็นสารเคมีที่มีจุดเดือดที่ -192 องศาเซลเซียส ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น เป็นตัวทำความเย็นให้กับคอมพิวเตอร์ ใช้ในทางการแพทย์ ขจัดผิวหนังที่ไม่เป็นที่ต้องการ กำจัดหูด หรือเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มแรก รวมทั้งใช้ในสภาวะที่ต้องการความเย็นอย่างมาก เพราะในทางวิทยาศาสตร์พบว่า ไนโตรเจนเหลวช่วยให้วัตถุมีอุณหภูมิที่เย็นลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ไนโตรเจนเหลว ในวงการอาหาร
ปัจจุบัน มีการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้แช่แข็งอาหาร และเครื่องดื่มกันมากขึ้น โดยเฉพาะในร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือภัตตาคารตามโรงแรม เพราะมันสามารถทำให้อาหารแข็งได้ทันทีทันใด โดยหลักมักนำมาใช้กับการปรุงอาหารประเภทของหวาน และเครื่องดื่ม เช่น ไอศกรีม และคอกเทล แต่นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติของไนโตรเจนเหลว ยังมีพ่อครัวนำเสนอเมนูทั้งของคาวของหวานกันอย่างมากมาย เช่น ไข่คนไนโตร ไนโตรคาราเมลป๊อบคอร์น ไอศกรีมพายฟักทอง และอื่นๆ
อันตรายของไนโตรเจนเหลว
ศาสตราจารย์ Peter Barham จากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย Bristol กล่าวว่า ไนโตรเจนเหลวนี้ จริงๆ แล้ว เมื่อเป็นก๊าซไนโตรเจน ก็ไม่ได้มีอันตรายอะไรมาก การนำไนโตรเจนมาทำให้เป็นของเหลว ต้องนำไปไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ แต่เมื่อนำมาใช้งาน ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่เย็นจัดมาก และถ่ายทอดความเย็นบนสิ่งที่สัมผัสอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ หากใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น หกรดบนมือ บนเท้าโดยตรง เป็นต้น
ไนโตรเจนเหลว อันตราย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส
จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบความเสี่ยงเนื่องจากสารดังกล่าว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส หากนำไปวางไว้ไม่ถูกที่ อาจก่อให้เกิดความสับสนได้ หรือหากทำหก ก็สามารถทำอันตรายได้โดยไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกัน โดยเมื่อปี 1999 เคยมีพนักงานในห้องปฏิบัติการที่ต่างประเทศท่านหนึ่ง เสียชีวิตด้วยอาการหายใจไม่ออกจากการใช้ไนโครเจนเหลว
ไนโตรเจนเหลว สามารถขยายตัวออกมาในสัดส่วนที่มาก ไนโตรเจนเหลว 1 ลิตร สามารถกลายเป็นก๊าซไนโตรเจนได้ถึง 700 ลิตร ดังนั้นหากมีของเหลวในอยู่ในห้องในปริมาณไม่เหมาะสม ก็อาจเกิดอันตรายได้
สำหรับการนำมาใช้ทำอาหารนั้น ศาสตราจารย์ Barham กล่าวว่า จะไม่เป็นปัญหาใดๆ หากมีการดูแลความปลอดภัย เช่นหากมีการเติมไนโตรเจนเหลวลงไปในของเหลวที่เป็นส่วนผสมของไอศกรีม มันก็จะเย็นอย่างรวดเร็ว และเดือดออกไปเหลือเพียงแค่เกร็ดไอน้ำ ซึ่งทางร้านอาหาร มักจะใช้เวลาทำไอศกรีมแบบเร่งด่วน แต่ทั้งนี้ หากมีใครดื่มของเหลวนี้เข้าไปเพราะความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นน้ำ หรือน้ำมัน ร่างกายจะไม่สามารถย่อยไนโตรเจนเหลวนี้ได้
หากเผลอกินไนโตรเจนเหลวเข้าไป จะเป็นอย่างไร?
John Emsley นักวิทยาศาสตร์ของ Royal Society of Chemistry กล่าวว่า การกลืนกินสารนี้เข้าไป มีผลเสียอย่างร้ายแรง หากดื่มเข้าไปมากกว่าสองสามหยด หรือประมาณ 1 ช้อนชา มันจะแข็งตัว และกลายเป็นของแข็ง คล้ายกระจก คงต้องนึกภาพตามว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อมันเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ เมื่อมันโดนความร้อน มันจะเดือด และกลายเป็นก๊าซ และประทุอยู่ในท้องของเรา
อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก ที่ใครจะกลืนไนโตรเจนเหลวนี้เข้าไป เพราะเมื่อมันเข้าไปอยู่ในปาก จะรู้สึกเย็นมาก และน่าจะบ้วนออกมาในทันที แต่ทาง Dr. Alex Valavanis จากสถาบัน Microwave and Photonics ของมหาวิทยาลัย Leeds เชื่อว่า เหตุที่มีข่าวว่าเด็กวัยรุ่นกลืนลงไปนั้น น่าจะเป็นเพราะมันไม่ได้รู้สึกเย็นจัดในทันที ทำให้ไม่สามารถจับความผิดสังเกตได้ ดังนั้นการนำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านอาหาร เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่เพียงแค่อุบัติเหตุในการกลืนกินเท่านั้น แต่ยังต้องระมัดระวังในการสัมผัสด้วยเช่นกัน
ขอบคุณเนื้อหาจาก bbc.com
ภาพประกอบจาก istockphoto