เมื่อวันที่ 3 ต.ค.65 เวลา 15.00 น. : นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีปิดงาน “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พร้อมทั้งแถลงทิศทางการดำเนินงานของกระทรวง พม. ก้าวสู่ปีที่ 21 โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวสรุปรายงานภาพรวมของการจัดงานฯ ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง (พม.) ผู้แทนภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ
นายจุติฯ กล่าวว่า ด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาปนาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักด้านสังคมของภาครัฐในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งได้กำหนดจัดงาน “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการขับเคลื่อนงานด้านสังคมในภาพรวมของประเทศสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำเสนอพัฒนาการและผลงานของกระทรวง (พม.) ในมิติที่หลากหลาย รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ทั้งนี้ สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกระทรวง (พม.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 จะมุ่งเน้นการเสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย
1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางแบบองค์รวมใน 5 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ
2) ส่งเสริมให้มี (อพม.) จำนวน 500,000 คน ภายในปี 2566
3) ส่งเสริมการทำงานแบบหุ้นส่วนกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4) ส่งเสริมและยกระดับอาชีพ รายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น บัตเลอร์ (Butler) เชฟอาหารไทย พี่เลี้ยงเด็ก และผู้ดูแล (Care giver) เป็นต้น
5) ยกระดับชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Smart Sustainable Community)
6) ส่งเสริมการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ
7) ปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ และ
8) ส่งเสริมความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท
นอกจากนี้ กระทรวง (พม.) จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้องค์กรมีความทันสมัย รวมถึงพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงบทบาท ภารกิจ และผลงานที่สำคัญของกระทรวง (พม.) และที่สำคัญ บุคลากรของกระทรวง (พม.) จะต้องได้รับการพัฒนายกระดับให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานตามเป้าหมาย คือ “ความสุขของประชาชน คือ ความสำเร็จของ พม.”
นายจุติฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 21 และปีต่อๆ ไป ของกระทรวง (พม.) มีคำถามใหม่ คือ ประชาชน สังคม ประเทศชาติ จะได้อะไรจากกระทรวง (พม.) ซึ่งคำบรรยายไม่สำคัญเท่ากับผลสัมฤทธิ์ที่จะมอบให้พี่น้องประชาชน ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การทำงานให้กระชับ ด้วยเป้าหมายชัดเจน รวดเร็ว และทันใจ นับเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำและสามารถจับต้องได้ อาทิ พื้นฐานความต้องการของมนุษย์ ได้แก่ ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย อาชีพ อาหาร การศึกษา และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งกระทรวง (พม.) เป็นกระทรวงแรกที่ใช้สมุดพกครัวเรือนสำหรับกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ และพื้นฐานความสุขของประชาชน โดยระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา กระทรวง (พม.) ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวง (พม.) ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เห็นปัญหาอุปสรรค
เราจึงเข้าไปช่วยสร้างโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านั้น ด้วยการปรับจากการพึ่งพามาสู่ความพอเพียง และความยั่งยืน ดังนั้น ตนหวังว่าปีที่ 21 ของกระทรวง (พม.) จะเป็นกระทรวงที่สามารถทำงานหนักกว่าเดิมในการพัฒนาทุนมนุษย์ที่อยู่ในระดับสูงต่อไป ดังนั้น งานของกระทรวง (พม.) ไม่มีวันจบ เพราะทุกอย่างเป็นวงจรเหมือนหนูถีบจักร และทำงานปิดทองหลังพระที่ไม่มีใครเห็น แต่ความสุขอยู่ที่ใจที่ได้จากการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย
นายจุติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ อยากฝากปลัดกระทรวง พม. ผู้บริหาร และเพื่อนร่วมงานทุกท่านว่า เรามีเรื่องต้องทำอีกมาก แต่อุปสรรคที่เราต้องทำคือ การผ่าตัดระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ล้าสมัย ที่เป็นอุปสรรคของงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงาน ติดตามประเมินผล และสนับสนุนให้ประชาชนได้รับความสุขที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และการสร้างโอกาสต่อเนื่อง อาทิ การสร้างงานเล็กๆ ในวันนี้ จะเป็นงานที่ใหญ่ในวันข้างหน้า ทั้งนี้ เป้าหมายคือเราต้องสร้างมืออาชีพในทุกกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือเป้าหมายที่กระทรวง พม. จะต้องทำในปีที่ 21 และปีต่อๆ ไป และขอแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จเป็นเพราะคน (พม.) ทุกคน และหากปราศจาก (อพม.) หลายแสนคน งานของกระทรวง (พม.) จะไม่ประสบความสำเร็จ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน