วันที่ 3 ตุลาคม 65 ที่ห้องประชุมอาคารเอนกประสงค์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ คณะอนุกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมี น.ส.สุดาวัลย์ ทองเถื่อน ประธานอนุกรรมการนำคณะอนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้าประชุมและมี ดร.เกรียงศักดิ์ สุวรรณวัจน์ ผู้ประสานงานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมให้คำแนะนำในประเด็นต่างๆต่อคณะอนุกรรมการ
ในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ คณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสำเร็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจังหวัดเพชรบูรณ์เห็นชอบให้แต่งตั้งอนุกรรมการจากหน่วยงานทางการศึกษาสังกัดต่างๆ และสื่อมวลชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการสรรหาและคัดเลือกครู โดยดำเนินการพิจารณากำหนดแนวทางการคัดเลือกโดยการลงพื้นที่่่เพื่อสืบเสาะข้อมูลจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้นำชุมชน โดยพิจารณาจากเอกสารนำเสนอ การสัมภาษณ์ เทปบันทึกเสียง คลิปวิดิโอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่่่่่่ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งนี้ที่ประชุมกำหนดปฏิทินการดำเนินการลงพื้นที่วันที่ 10-13 ตุลาคม 2565 จากนั้นนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดที่่มีนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเพื่อพิจารณาตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย
โดยที่ในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์มีครูผู้ถูกเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 3 คนได้แก่ นางสาวพัทธนันท์ แหยมแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีมงคลวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเพชรบูรณ์ เสนอชื่อโดยสถานศึกษา โรงเรียนศรีมงคลวิทยาคม นายไพฑูรย์ ไชยกุล ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านนายม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเพชรบูรณ์เขต 1 เสนอชื่อโดย นางสาวนิรารัตน์ นาสะอ้าน ผ่านระบบแนะนำครูดี และนายสำเนาว์ หมื่นชนะ ข้าราชการบำนาญ อดีตครู โรงเรียนบ้านคลองกรวด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเพชรบูรณ์เขต 3 เสนอชื่อโดยนางสาววิชุดา ภักดี ผ่านระบบแนะนำครูดี
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา และเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษาในประเทศอาเชียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยจะมีการสรรหาในทุก 2 ปีครั้ง ประเทศละ 1 รางวัล โดยครูที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีประสบการณ์สอนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นครูหรือเคยเป็นครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเคยเป็นครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่เป็นครูสอนพิเศษเป็นอาชีพหลัก
ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับรางวัล ประกอบด้วย เหรียญทอง เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน เกียรติบัตร โล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ครูที่ได้คะแนนลำดับรองลงมาจะได้รับรางวัลคุณากร 2 รางวัล รางวัลครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และรางวัลครูขวัญศิษย์ เพื่อเชิดชูครูในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
มนสิชา คล้ายแก้ว