มกธ.ส่งเสริมพันธกิจการบริการวิชาการแก่สังคมร่วมกับเครือข่ายสังคม สร้างอาชีพเสริมรายได้ให้ชุมชนสี่แยกมหานาค และบางโพงพางด้วยงานหัตถกรรมจากวัสดุเหลือใช้ตามโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” พร้อมพัฒนาช่องทางการสื่อสารทางการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียให้ตลาดผลไม้ และจัดการข้อมูลตั้งต้นเชิงประวัติศาสตร์วัดปริวาสราชสงคราม เสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแก่ชุมชน พร้อมจัดเก็บข้อมูลบริบทชุมชนรอบด้านเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) เปิดเผยถึงบทบาทด้านการบริการวิชาการแก่สังคมว่า มหาวิยาลัยฯ ได้วางกรอบนโยบายด้านการบริการวิชาการแก่สังคมอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นบทบาทตามพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ โดยล่าสุด มกธ.ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “U2T for BCG” และสนับสนุนส่งเสริมให้คณาจารย์ บุคลากร ประชาชนในชุมชน บัณฑิตจบใหม่ ตลอดจนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) หรือโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าว่า การเข้าร่วมโครงการ “U2T for BCG” ดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มกธ. เป็นประธานในการดำเนินโครงการ“U2T for BCG มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” และตั้งคณะทำงานจากคณาจารย์ ประชาชน และบัณฑิตจบใหม่ เพื่อดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าวของ อว.
อธิการบดี มกธ. กล่าวต่อว่า คณะทำงานของ มกธ. ตามโครงการดังกล่าว ได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ประสานความร่วมมือจากภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ ในการขับเคลื่อนโครงการ “U2T for BCG” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก หรือให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านทักษะเชิงวิชาชีพเสริมเพิ่มศักยภาพแก่ชุมชนต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง และสามารถเสริมสร้างรายได้ หรือคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ทางด้าน รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวว่า ตลอดเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มกธ.ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยคณะทำงานในโครงการ “U2T for BCG มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ได้ลงปฏิบัติงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ชุมชน 2 แห่ง คือ ชุมชนสี่แยกมหานาค แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต และชุมชนบางโพงพางรอบ ๆ วัดปริวาสราชสงคราม แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มโอกาสในการเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชนดังกล่าว
การส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้ตามโครงการดังกล่าวในพื้นที่ชุมชนสี่แยกมหานาคนั้น คณะทำงานได้ประสานกับวิทยากรที่มีประสบการณ์จากชุมชนทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนในชุมชน โดยการอบรมวิชาชีพสรรค์สร้างงานหัตถกรรมจากวัสดุเหลือใช้ และเทคนิคงานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้แก่ผู้แทนชุมชนต่าง ๆ เช่น ชุมชนวัดญวณ ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา ชุมชนริมทางรถไฟสาย 8 ริ้ว และประชาชนที่สนใจ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนสี่แยกมหานาค และใกล้เคียง
ส่วนกิจกรรมการพัฒนาอาชีพเสริมรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ แขวงบางโพงพาง คณะทำงานร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมจากวัสดุเหลือใช้ และบัณฑิตจบใหม่ร่วมดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมอาชีพสรรค์สร้าง เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมจากวัสดุเหลือใช้แก่ผู้แทนชุมชน และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวที่สนใจ
“ผลจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ “U2T for BCG มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ในพื้นที่ทั้ง 2 ชุมชนได้รับความสนใจ และการตอบรับการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดีทั้งจากผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งครู อาจารย์ เยาวชน ซึ่งสามารถเพิ่มทางเลือกและโอกาสแก่ประชาชนในชุมชนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรม เพิ่มความรู้สร้างเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวต่าง ๆ ในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.สุกัญญา กล่าว
รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวต่อว่า ผลงานหัตถกรรมสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งเกิดขึ้นจากศักยภาพความสามารถของชุมชนต่าง ๆ ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับ มกธ. ได้แก่ ตะกร้า กระเป๋า กระบุงที่มีทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ผลผลิตดังกล่าวล้วนพัฒนามาจากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนต่าง ๆ ทั้งสิ้น เช่น เศษภาชนะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม เส้นใยพลาสติก เศษผ้า กล่องกระดาษ เป็นต้น
คณะทำงานโครงการ “U2T for BCG มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ยังได้พัฒนาสร้างสรรค์จัดการฐานข้อมูลการสื่อสารทางการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้กับตลาดผลไม้ของชุมชนสี่แยกมหานาค และผลิตภัณฑ์ของชุมชนแขวงบางโพงพางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย (Social Media) และเฟสบุ๊ค ไลน์ (Facebook Lite) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเพิ่มโอกาสในการเสริมความเข้มแข็งด้านการตลาดให้ชุมชนตลาดผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ของชุมชนแขวงบางโพงพางได้ด้วย
นอกจากนี้ คณะทำงานตามโครงการดังกล่าวได้พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเสริมฐานข้อมูลตั้งต้นเชิงประวัติศาสตร์ของชุมชนภายในวัดปริวาสราชสงคราม เช่น ประวัติความเป็นมา แนวคิดเชิงประติมากรรม สถาปัตยกรรมที่มีต่อแง่มุมทางความเชื่อทางพุทธศาสนา และมุมมองเชิงศิลปะของศิลปิน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสมบัติที่มีมูลค่าของชุมชนและประเทศ โดยได้จัดทำสื่อสารคดีให้กับวัดปริวาสราชสงคราม เพื่อเสริมศักยภาพด้านข้อมูลข่าวสารต่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธของชุมชนในพื้นที่แขวงบางโพงพาง
รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานได้เก็บข้อมูลเชิงบริบทชุมชนที่เกี่ยวข้องทุกด้านในชุมชนต่าง ๆ ด้วย เช่น ด้านสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ชุมชน การปกครอง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข เกษตร ตลอดจนปัญหาของชุมชน เป็นต้น เพื่อจัดทำฐานข้อมูลชุมชนสำหรับการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศต่อไป
“กิจกรรมตามโครงการ “U2T for BCG มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” นอกจากเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เน้นการสร้างรายได้เสริมอาชีพแล้ว ยังจะช่วยให้ชุมชนตระหนักถึงการรักษ์โลก ซึ่งการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มเกิดมูลค่า จึงเป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ทั้งระดับกระทรวง และระดับชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564 - 2569 หรือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามหลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลอีกด้วย” รศ.ดร.สุกัญญา กล่าว
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมตามโครงการ “U2T for BCG มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” สอดคล้องกับบทบาทตามพันธกิจการบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งมกธ.มุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกคณะ หรือทุกสาขาวิชาได้นำความรู้ความสามารถ ทักษะทางวิชาการวิชาชีพ หรือประสบการณ์ร่วมของคณาจารย์ และนักศึกษามาบูรณาการกับศาสตร์สาขาต่าง ๆ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ และสามารถนำไปถ่ายทอดต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า หรือเอื้อต่อการนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมอย่างแท้จริงตามบริบทต่าง ๆ ในสถานการณ์ของสังคมปัจจุบัน
“นโยบายด้านการบริการวิชาการแก่สังคมดังกล่าวของ มกธ. จึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนานักศึกษาให้มีความตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติของตนเองต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถทางวิชาการให้เข้มแข็ง และมิติของสังคมในการแบ่งปันความรู้ความสามารถ และทักษะทางวิชาการวิชาชีพที่ได้รับการพัฒนาตนตามศาสตร์สาชาต่าง ๆ สู่ประชาชน สังคม หรือสาธารณะ รวมถึงมิติระดับชาติต่อความรับผิดชอบในด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยรวมด้วย” รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว