งานเขียนชิ้นนี้จะไม่ขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับข่าวคราวโด่งดังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาของ “นักพูด” คนหนึ่ง
นับจากนี้ คงต้องปล่อยให้พลังทางสังคมกลุ่มต่างๆ ประเมินหรือตัดสินคุณค่าในฐานะ “นักพูด” ของเธอ
และคงต้องให้เธอเป็นผู้รับผิดชอบต่อคำพูดที่ตนเองได้เคยกล่าวออกไป ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นถ้อยคำอันก่อให้เกิด “ปัญหา” หรือ “ความแตกแยก”
ตรงกันข้าม งานเขียนชิ้นนี้อยากทดลองตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้ “นักพูด” ประเภทนี้ มีสถานะมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ก่อนจะถูกกร่อนเซาะโดยกระแสสังคมในที่สุด
ต้องยอมรับกันก่อนว่าสังคมไทยมีลักษณะเป็น “สังคมมุขปาฐะ” หรือสังคมที่ถ่ายทอด “ความรู้?” เรื่องราวต่างๆ ผ่านการบอกเล่าต่อๆ กันมา
เท่ากับว่าสังคมของเรามักจะสืบทอด “ความรู้?” ผ่านการพูดและการฟัง หรือผ่าน “เรื่องเล่า” ไม่ใช่ผ่านงานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร
“ความรู้?” ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านคำพูด มักถูกคลุมเคลือบไว้ด้วยการใช้ชุดคำคล้องจองสละสลวย (หลายครั้งก็กลายเป็น “กลอนพาไป”) การออกเสียงที่ชัดถ้อยชัดคำ (ตามมาตรฐานภาษาไทยภาคกลาง) การรู้จักเน้นเสียงสูงเสียงต่ำ การมีบุคลิกที่มั่นอกมั่นใจ ตลอดจนการเกาะเกี่ยวไปกับกระแสและอารมณ์ของสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ
น่าสนใจว่า ไปๆ มาๆ องค์ประกอบที่น่าจะมีความสำคัญและผ่านการคิดใคร่ครวญให้รัดกุม อย่าง “องค์ความรู้” เกี่ยวกับเรื่องที่พูด “ความหมาย” ของถ้อยคำสำคัญๆ ที่ผู้พูดเลือกใช้ “ข้อเท็จจริง” ที่ใช้สนับสนุนท่าทีหรือข้อเสนอของนักพูด รวมถึง “ข้อถกเถียง/ข้อโต้แย้ง” ที่อาจมีต่อข้อเสนอดังกล่าว
กลับมิใช่องค์ประกอบสำคัญของการสืบทอด “ความรู้?” ผ่าน “เรื่องเล่าแบบไทยๆ”
อย่างไรก็ตาม “ลักษณะเฉพาะ” ที่ว่า กลับมิได้ปรากฏอยู่แค่ในพื้นที่ของ “การพูด-การฟัง” (ตั้งแต่งานทอล์กโชว์ ถึงรายการเล่าข่าว ซึ่ง “เคยมี” พลานุภาพ) เท่านั้น
เพราะแม้กระทั่งการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะชนิดอื่นๆ ของสังคมไทย ก็มี “ลักษณะร่วม” ไม่ต่างกัน
คนไทยใช้ “เฟซบุ๊ก” กันอย่างจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน แต่หลายๆ โพสต์ที่ถูกแชร์ซ้ำในปริมาณมหาศาล กลับเป็นข้อความซึ่งนำเอาถ้อยคำที่ดูดีมาเรียงต่อกัน โดยปราศจากเหตุผลเชื่อมโยงใดๆ ทั้งสิ้น
จนอ่านไม่รู้เรื่อง ว่าสุดท้าย คนโพสต์ต้องการ “สื่อความ” อะไรกันแน่?!
วิธีการนำเสนอตัวตน (ไม่ว่าจะผ่านตัวหนังสือ ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหว) ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกโซเชียลมีเดีย แบบไทยๆ คือ การบอกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเราเป็นใคร เรามีความหวือหวาอย่างไร เราเกาะเกี่ยวกับกระแสสังคมได้มากน้อยแค่ไหน เรามีสายสัมพันธ์กับใครบ้าง
โดยมักกระโดดข้ามเรื่องเรามี “ความคิด-ความรู้” อะไรอยู่ในหัวบ้าง ไปเสียเฉยๆ
ลักษณะการสื่อสาร-นำเสนอตัวตนเช่นนี้ ลามไปถึงข่าวที่เราเสพ ลามไปถึงหนังสือที่เราอ่าน
และ “นักพูด” คนดัง ก็เป็นผลผลิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากสภาวะดังกล่าว
เมื่อสังคมมีแนวโน้มจะยกย่องชื่นชม “คนประเภทหนึ่ง” หนุ่มสาวจำนวนมากจึงต้องพยายาม “พัฒนา?” ตนเองให้กลายเป็น “คนประเภทนั้น”
แต่ขณะเดียวกัน แม้อาชีพ “เล่าเรื่อง” ผ่านฉากหน้าอันคล้ายจะคมคาย ลึกซึ้ง น่าตื่นตาตื่นใจ อาจนำพาความสำเร็จมาให้พวกเขาและเธอในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ทว่า การทำงานโดยไม่พึ่งพาและสำรวจตรวจสอบ “ความรู้-ข้อเท็จจริง-ข้อถกเถียง” ใดๆ เลย ก็สามารถชักนำ “นักเล่าเรื่อง” ให้เดินทางไปสู่ความพังพินาศอย่างง่ายดายเกินคาดคิด
อย่างไรก็ดี จะไปกล่าวโทษหรือไล่ตำหนิ “นักพูด” เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้
หากต้องติเตียน “คนฟัง” (ผู้เชื่อถือคล้อยตาม “นักพูด”) และที่สำคัญกว่านั้น คือ คนที่พยายามจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จาก “นักพูด” ไปพร้อมๆ กันด้วย