องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศว่าไวรัสซิกา ซึ่งแพร่ระบาดจากยุงไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในระดับสากลอีกแล้ว คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังซิกาถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นปัญหาภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วโลกมานาน 9 เดือน แต่ขณะนี้ฮูชี้ว่าซิกาเป็นปัญหาที่จะยังคงอยู่ต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ ซิกาส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กแรกเกิดมีศีรษะเล็กซึ่งอาจกระทบกับการพัฒนาของสมอง ซึ่งพบในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ฮูระบุว่าเพียงแค่ในบราซิลประเทศเดียว พบปัญหาดังกล่าวในเด็กแรกเกิดถึง 2,100 กรณี เพราะนอกจากยุงที่เป็นพาหะของโรคแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ยังเป็นช่องทางในการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ดร.เดวิด เฮย์แมน ประธานคณะกรรมาธิการฉุกเฉินของฮูระบุว่า ไวรัสซิกายังคงถือเป็นภัยที่สำคัญและจะยังคงแพร่ระบาดอยู่ต่อไป แต่จะมีการปรับเปลี่ยนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคด้วยการวางแผนระยะยาว เพราะขณะนี้ซิกาได้แพร่กระจายไปทั่วละตินอเมริกา แคริเบียน และภูมิภาคอื่นๆ
คนทั่วไปจะไม่เสียชีวิตจากไวรัสซิกา แต่จะส่งผลไปยังเด็กแรกเกิด และมีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อที่จะมีอาการบางอย่าง อาทิ เป็นไข้ ผื่นคัน และปวดข้อ