ดร.พีรศักด์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวถึงการจัดการอบรมปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับครูผู้สอนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1-18 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาว่า การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณและภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) มีหลากหลายหลักสูตรที่ครูจะต้องได้รับการพัฒนาเรียนรู้และนำเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดในการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดต่อให้แก่นักเรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถออกแบบการสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งการอบรมในวันนี้ มี 2 หลักสูตร ประกอบด้วย
1) หลักสูตร การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยโปรแกรม Scratch สำหรับครูสอนระดับประถมศึกษา และ
2) หลักสูตรการเขียนโปรแกรมภาษา Python
สำหรับครูสอนระดับมัธยมศึกษา และหวังว่าครูที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ จะสามารถนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
นางสาวชิโนรส กวางแก้ว ครูระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนเฟื่องฟ้าวิทยา จังหวัดปทุมธานี จากการอบรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นการอบรมที่มีประโยชน์เพราะสามารถจะนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนวิชาเทคโนโลยีกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนได้ เป็นการประยุกต์ให้เด็กๆ เค้ารู้จักการเขียนโปรแกรม การใช้บอร์ดคำสั่งเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ทำให้นักเรียนมีความคิดเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอนมากยิ่งขึ้น ให้คุณครูได้เข้ามารับรู้ข้อมูล และเข้ามาอบรมนำประสบการณ์จากการอบรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และควรจะจัดในทุกๆปี
นายเจษฎางค์ พรมศาสตร์ ครูระดับประถมศึกษา โรงเรียนราชินีบน กทม. กล่าวอีกว่า ในการอบรมในครั้งนี้ 3 วันนี้ ก็ได้ในส่วนของ Coding และทางวิทยากรได้สอนในเรื่องของการใช้ตัวโน๊ตดนตรี ซึ่งพอมานั่งคิดดูแล้วกับ Scratch มันน่าจะออกไปในส่วนของการบูรณาการในวิชาดนตรีได้ด้วย กับวิชาวิทยาการคำนวณในส่วนของ Scratch ก็คือจะสอนผสมผสานกันไป ในเรื่องของหลักสูตรนี้ ควรจะจัดต่อในปีหน้าหรือว่าต่อยอดดีมั้ย ก็ควรครับ เพราะมันจะได้ต่อเนื่องกัน ทำให้ครูหลายหลายคนเกิดแรงบันดาลใจ ในส่วนของการนำไปต่อยอดในหลายหลายวิชาเพื่อไปบูรณาการกัน
นายสกล จันทร์กิติวัฒน์ ครูระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนวิบูลย์วิทยา จังหวัดระนอง กล่าวเสริมว่า สำหรับการอบรมในครั้งนี้เป็นการอบรมเกี่ยวกับการเตรียมโปรแกรม Python สามารถนำไปใช้สอนที่โรงเรียนได้มากมายครับ อย่างตอนนี้ ล่าสุดนี้ก็คือไปเขียนโปรแกรมเพื่อต่อยอดให้เด็กนั้นได้ทำเป็นทั้งหมดเลย ได้ออกแบบโปรแกรมได้
นางสาวเยาวภา จงพัฒกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาบุคลากร กลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณและภาษาคอมพิวเตอร์ (สช.) ได้รับงบประมาณมาในปี 2565 และได้ร่วมกับ (สสวท.) จัดอบรมพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา เพื่อที่ครูจะได้นำเทคนิควิธีการการจัดการเรียนการสอนไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนให้ได้รู้จักคิดวิเคราะห์มีเหตุมีผลเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้
สำหรับการอบรมปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับครูผู้สอนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-18 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งการอบรม 2 หลักสูตร ประกอบด้วย
1) หลักสูตร การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยโปรแกรม Scratch สำหรับครูสอนระดับประถมศึกษา จำนวน 260 คน และ
2) หลักสูตรการเขียนโปรแกรมภาษา Python สำหรับครูสอนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 130 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 390 คน จากโรงเรียนเอกชน จำนวน 208 โรงเรียน โดยได้รับความอนุเคราะห์คณะวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิทยากรแกนนำจากโรงเรียนต่างๆ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน