เมื่อวันที่ 19 ก.ย.65 เวลา 11.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) : ไดัมีการแถลงผลการตรวจยึดรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม,น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม,นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมการแถลงข่าว
นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า กรณีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ ของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ขอให้สืบสวน กรณีขบวนการโจรกรรมรถยนต์ราคาสูงจากประเทศอังกฤษ 35 ค้น และนำเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีราคาที่ประเทศอังกฤษประมาณ 2,400,000 ปอนด์สเตอร์ลิง เทียบเงินไทยมากกว่า 100 ล้านบาท โดยหากนำเข้ามายังไทยราคาจะเพิ่มเป็น 3 เท่า โดยดีเอสไอเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.60 ปัจจุบันสามารถสืบสวนติดตามยึดรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมได้ 26 คัน ยังติดตามยึดไม่ได้ อีก 9 คัน ซึ่งข้อมูลที่อังกฤษส่งมาให้ทั้งหมดในปี 2564 ดังนั้นการทำงานในตรงนี้ไม่ได้ล่าช้า ดีเอสไอจะเร่งรัดสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ เพื่อดำเนินคดีกับตัวการและผู้ร่วมขบวนการทุกคน
“ขอขอบคุณผู้ซื้อและครอบครองรถยนต์ ทั้ง 26 คัน ที่ยอมรับข้อเท็จจริงและได้ยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้พนักงานสอบสวน ยึดเป็นของกลางในคดี ขอเตือน บุคคลที่เป็นผู้ที่ครอบครองรถยนต์อีก 9 คัน ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ติดต่อประสานไปแล้ว แต่ยังไม่ยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้ ท่านอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีได้หากไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ” นายสมศักดิ์ฯ กล่าว
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ.2559-2560 หน่วยข่าวกรองอาชญากรรมยานยนต์แห่งชาติ สหราชอาณาจักร ร่วมกับตำรวจนครบาลลอนดอน ได้ร่วมกันสืบสวนสอบสวนภายใต้ชื่อ“ปฏิบัติการไททาเนี่ยม”(Operation Titanium) กรณี ขบวนการโจรกรรมรถยนต์ราคาสูงส่งออกจากสหราชอาณาจักรแล้วนำเข้ามาในประเทศไทย และเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.61 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ ที่ 78/2561 สำหรับรถทั้งหมดต้องประสานอังกฤษ ว่าผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของรถจะรับคืนอย่างไร ในส่วนของโชว์รูม ผู้นำเข้าต้องดูที่เจตนาว่าได้ร่วมกระบวนการหรือไม่ ซึ่งเราจะรีบดำเนินการทันที โดยกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งดำเนินการ และมีการตั้งทีมสอบและทีมสืบแยกกันทำงานเพื่อความรวดเร็ว โดยดีเอสไอต้องการสร้างความเชื่อมั่น และท่านรัฐมนตรี ได้กำชับต้องเร่งดำเนินการ เพราะเรื่องนี้กระทบภาพลักษณ์ของประเทศ
“ขอบคุณผู้ซื้อและครอบครองรถยนต์ ทั้ง 26 คัน ที่ยอมรับข้อเท็จจริงและได้ยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้พนักงานสอบสวน ยึดเป็นของกลางในคดี ผู้ที่เป็นผู้ซื้อและครอบครองรถยนต์ทั้ง 26 คัน สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย (แพ่ง) ฟ้องร้องผู้ที่จำหน่ายรถยนต์ให้ท่านได้ ยินดีสนับสนุนพยานหลักฐานและเป็นพยานให้ท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว
ด้าน พ.ต.ท.พะเยาฯ กล่าวว่า การดำเนินการของดีเอสไอนั้น เมื่อวันที่ 18 พ.ค.60 ได้นำหมายค้นไปตรวจค้นเป้าหมาย 9 จุด พบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น สี และเลขตัวรถ ตรงตามบัญชีรถยนต์ของอังกฤษ จอดอยู่ที่โชว์รูม บจ.ส.ธรรมธัชช (STT. Auto Car) 2 แห่ง 7 คัน จึงได้ยึดและอายัดไว้
จากนั้นได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามีบริษัทรถยนต์จากประเทศอังกฤษ ประสานมาว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรม อยู่ในเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) จึงเข้าตรวจสอบและยึดอายัด 6 คัน และเมื่อวันที่ 10 ก.ย.61 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ทางอังกฤษสืบสวนและส่งพยานเอกสารและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ 35 คัน ที่ถูกโจรกรรมมาให้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี จนกระทั่งวันที่ 13 ก.ย.64 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเอกสารและพยานหลักฐานต่างๆ ของรถยนต์ทั้ง 35 คันจากอังกฤษ
พ.ต.ท.พะเยาฯ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลทราบว่า กลุ่มคนไทย ที่มีโชว์รูมจำหน่ายรถหรู ร่วมมือกับกลุ่มคนต่างชาติในอังกฤษ โดยเครือข่ายกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ติดต่อทำสัญญาเช่าซื้อหรือเช่ารถยนต์ ระยะสั้น แล้วนำไปส่งมอบให้กับเครือข่ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดทำเอกสารเท็จหรือปลอม อาทิ ใบตราส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เพื่อตบตาศุลกากร จากนั้นรถยนต์จะถูกส่งออกจากอังกฤษทางเครื่องบินจากสนามบินฮีทโธรว์ ไปยังประเทศสิงคโปร์ แล้วขนส่งทางเรือจากประเทศสิงคโปร์เข้ามายังประเทศไทย
จากนั้นทั้งคณะได้ลงมาเดินดูรถของกลางที่ยึดได้ บริเวณหน้าอาคาร โดยยี่ห้อรถยนต์และรุ่นรถ อาทิ แลมโบกีนี่ ฮูราแคน สไปเดอร์,เฟอร์รารี,BMW-M4,เบ็นซ์ AMG,นิสสัน GTR,ปอร์เช่ คาเยน,เรนโรเวอร์ สปอร์ต,มินิคูเปอร์,ฟอร์ด มัสแตง,เล็กซัส,อาวดี้ Q7,โฟคสวาเก็น และ ฮอนด้า GT Type-R
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน