อดีต ปธ.คณะทำงานฯ ย้ำ พฤติกรรมการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ไม่พบความผิดปกติ ยันสอบละเอียดแล้ว ดูหมดทั้งแผนธุรกิจ-เคาะราคาสู้ราคาตัวเอง-เทียบข้อเท็จจริงจากหลายหน่วยงาน ตามกรอบกฎหมาย กสทช. แต่อาจมีหน่วยงานอื่นเข้าไปสอบต่อได้
จากกรณีคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สรุปผลการตรวจสอบโดยให้บริษัท แจส โมบายฯ ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมประมาณ 199.4 ล้านบาท และไม่พบพฤติกรรมผิดปกติในการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ของบริษัท แจส โมบายฯ แต่อย่างใดนั้น
ล่าสุด นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ อดีตประธานคณะทำงานฯชุดดังกล่าว เปิดเผย สั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า เรื่องดังกล่าวผ่านมาค่อนข้างนานแล้ว จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ดีทุกอย่างเป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะทำงานฯ รายละเอียดทั้งหมดอยู่ในส่วนนั้น ในส่วนเรื่องพฤติกรรมการประมูล คณะทำงานฯได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนการทำธุรกิจของบริษัท แจส โมบายฯ และการเคาะราคาสู้ราคาตัวเองในช่วงท้าย ซึ่งพิจารณาแล้วที่บริษัท แจส โมบายฯ ชี้แจงมาเทียบกับข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานอื่น ๆ จึงพบว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้คณะทำงาน ฯ พิจารณาตามกรอบกฎหมายของ กสทช. ส่วนข้อเท็จจริงอื่น ๆ ก็อาจมีหน่วยงานอื่นเข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานฯ ได้พิจารณาพฤติกรรมการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ของบริษัท แจส โมบายฯ มีข้อสรุปดังนี้ การที่บริษัท แจส โมบายฯ ไม่ชำระเงินตามกำหนดเวลา เป็นความผิดชัดแจ้งตามประกาศฯ อันนำไปสู่การพิจารณาความเสียหายได้ตามประกาศฯ และหนังสือยินยอม อย่างไรก็ดีคณะทำงานได้พิจารณาพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ด้วยว่าเป็นไปโดยปกติหรือไม่ อย่างไร
ซึ่งในชั้นนี้ คณะทำงานฯ เห็นว่า จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บริษัท แจส โมบายฯ มีพฤติกรรมการประมูลไม่ปกติ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
1.คณะทำงานฯ ได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผลปรากฏว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้มีการเตรียมการเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงเทพ แต่ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ยืนยันจำนวนไว้อย่างชัดแจ้ง ตามหนังสือธนาคารกรุงเทพ ที่ ลงวันที่ 14 ต.ค. 2558 ส่วนกรณีบริษัท แจส โมบายฯ ได้ชี้แจงว่า ได้มีการหาผู้ร่วมทุนอื่นก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่ไม่สามารถเจรจาตกลงกับธนาคารกรุงเทพได้ ซึ่งธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ชี้แจงว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้ติดต่อกับทางกองทุนในประเทศจีนเอง และกว่าที่ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จะทราบเรื่อง ก็เหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ โดยธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน
2.คณะทำงานฯ ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผลปรากฏว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้มีการติดต่อประสานงานในเรื่องของโครงข่ายและอุปกรณ์เพื่อรองรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 900 MHz
3.การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในครั้งนี้ นายพิชญ์ มิได้เข้าร่วมเคาะราคาในห้องประมูลด้วยตัวเอง โดยบริษัท แจส โมบายฯ ชี้แจงว่า ได้มอบอำนาจให้นายสมบัติ พันศิริพัฒน์ นายยอดชาย อัศวธงชัย และนายปวีณ ชัยปราการ เป็นผู้เข้าร่วมเคาะราคาประมูลของบริษัท ตามหนังสือมอบอำนาจที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน กสทช. โดยได้รับนโยบายจากผู้บริหารในเรื่องของกรอบวงเงินการประมูล
4.สำหรับการเคาะราคาในการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎการประมูลตามประกาศฯ การที่บริษัท แจส โมบายฯ เคาะราคาอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวแล้ว โดยอ้างว่ายังไม่มั่นใจว่าบริษัทจะเป็นผู้ชนะการประมูลจริง จึงยังเคาะราคาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า พฤติกรรมการเคาระราคาของบริษัท แจส โมบายฯ มีความผิดปกติ
อนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาบริษัท แจส โมบายฯ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) เลขาธิการ กสทช. และรองเลขาธิการ กสทช. ฝ่ายกิจการโทรคมนาคม กรณีการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ดังกล่าว อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ได้