เมื่อวันที่ 14-16 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ รุ่นที่ 3 ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ.2565” โดยมี นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
นายสมปรารถนา สุขทวี กล่าวว่า (วช.) มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ ให้สามารถเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยได้ถูกต้องตามหลักของการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีคุณภาพ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ เชิงสาธารณะ หรือเชิงนโยบายได้
(วช.) จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการฝึกอบรมฯ ครั้งที่ 3 ของรุ่นที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์/นักวิจัยรุ่นใหม่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรม (Full Proposal) และรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำไปพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ และนำสามารถเสนอขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ได้ โดยตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรมฯ ทั้ง 3 ครั้ง นั้น (วช.) ได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระของหลักสูตรดังกล่าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม
ทั้งนี้ (วช.) ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี,นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ,นายสมบูรณ์ วงศ์กาด,ศาสตราจารย์ ดร.สนอง
เอกสิทธิ์,ศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ,ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช,ศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร,รองศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค,รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร,รองศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ และดร.อรสุดา เจริญรัถ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย
อีกทั้ง (วช.) ยังได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นอย่างดียิ่ง โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนทั้งสิ้น 76 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 31 แห่ง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะของผู้รับการฝึกอบรมทุกท่าน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน