วันที่ 16 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น.: นายทวีศักดิ์ อำลา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นประธานเปิดการการอบรมปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับครูผู้สอนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวเยาวภา จงพัฒกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาบุคลากร กลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา จำนวน 260 คน ครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษา จำนวน 130 คน พร้อมด้วยวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะวิทยากรแกนนำจากโรงเรียนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว
นายทวีศักดิ์ อำลา กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับสถาบันส่งเสริม
การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยได้ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน ผ่านระบบ Zoom Meetings ในช่วงต้นปีงบประมาณ จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่
1) หลักสูตร Scratch ขั้นพื้นฐานสำหรับการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ
2) หลักสูตร Scratch ขั้นสูงสำหรับการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และ
3) หลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณแบบ Unplugged
และได้อบรมเชิงปฏิบัติการค่ายการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ให้กับครูและนักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ไปแล้วนั้น
การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณและภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) มีหลากหลายหลักสูตรที่ครูจะต้องได้รับการพัฒนาเรียนรู้และนำเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดในการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดต่อให้แก่นักเรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถออกแบบการสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งการอบรมในวันนี้ มี 2 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) หลักสูตร การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยโปรแกรม Scratch สำหรับครูสอนระดับประถมศึกษา จำนวน 260 คน และ 2) หลักสูตรการเขียนโปรแกรมภาษา Python สำหรับครูสอนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 130 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 390 คน จากโรงเรียนเอกชน จำนวน 208 โรงเรียน โดยได้รับความอนุเคราะห์คณะวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิทยากรแกนนำจากโรงเรียนต่างๆ
นางสาวเยาวภา จงพัฒกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 โลกได้เข้าสู่สังคมที่เรียกว่า “สังคมความรู้” ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน และเราสามารถรับความรู้ได้จากหลายช่องทางและได้รับอย่างรวดเร็ว คนท่องเก่ง เรียนเก่ง จำเก่ง ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดอีกแล้ว แต่คนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือคนที่สังคมโลกต้องการ ระบบการจัดการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้ Coding เป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณ และเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21
“ต้องขอขอบคุณคณะวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยากรแกนนำจากโรงเรียน ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนทั้ง 208 โรงเรียน ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองเห็นความสำคัญในการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรในโรงเรียน ได้ส่งครูเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งถือว่า ท่านมีวิสัยทัศน์ในการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล ให้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”
“กระผมคาดหวังว่าครูที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ จะสามารถนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น” นายทวีศักดิ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน