สุดปัง สวทช. คว้ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” แชทบอทสุดฮิต ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเมือง คว้ารางวัลดีเด่น ด้านนวัตกรรมการบริการ ขณะที่ “โครงการบูรณาการข้อมูลผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา” คว้ารางวัลดีเด่น ประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการให้บริการ ที่ผู้รับบริการไม่ต้องร้องขอ
วันที่ 12 กันยายน 2565 : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ (สวทช.) เข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัลเลิศรัฐปี 2565 ในรูปแบบออนไลน์100 เปอร์เซ็นต์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเกียรติยศ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาคุณภาพที่ชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น การกินดีอยู่ดี มีรายได้ ชีวิตมั่นคงปลอดภัย มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้งเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นขอขอบคุณทุกหน่วยงาน และขอให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล ระลึกถึงเสมอว่าสิ่งที่ต้องรักษาอันดับแรก คือ การรักษามาตรฐานของผลงานที่แต่ละองค์กรได้รางวัลให้คงอยู่และพัฒนาให้ดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถนำไปต่อยอดขยายผลให้หน่วยงานอื่นๆ และชักชวนคนในหน่วยงานของตนเองมาร่วมจิตร่วมใจในการทำงานให้ดีมากขึ้น เพื่อความสุขของประชาชนและประเทศชาติต่อไป
ในโอกาสนี้คณะกรรมการได้ประกาศผลรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2565 ซึ่ง (สวทช.) ได้รับจำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0
เป็นรางวัลที่ประเมินระบบริหารของหน่วยงานภาครัฐในเชิงบูรณาการ โดยพิจารณาผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2564 ที่แสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาหน่วยงานสู่ระบบราชการ 4.0 ยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ใน 3 มิติ คือ
1.) ระบบราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน (Open & Connected Government)
2.) ระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government)
3.) หน่วยงานของรัฐมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government)
โดยเชื่อมโยงกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ใน 7 หมวด และต้องสามารถดำเนินการตามหมวดได้อย่างครบถ้วนตามเกณฑ์และมีผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี ซึ่ง สวทช. ยื่นสมัครรางวัลนี้มาเป็นปีที่ 3 และในปีนี้สามารถผ่านเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำเอกสารรายงานผลการดำเนินการพัฒนาองค์การสู่ระบบราชการ 4.0 (Application Report)
และขั้นตอนที่ 3 การตรวจประเมิน ณ สถานที่ปฏิบัติงานเพื่อสัมภาษณ์ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก สำนักงาน ก.พ.ร. (เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565) โดยมีผู้บริหาร นักวิจัย บุคลากรสายสนับสนุนกว่า 60 คน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับการตรวจประเมินฯ ที่สำคัญในปี 2565 นี้มีเพียง 2 หน่วยงานที่ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 จนได้รับรางวัล คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
2.รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการ มอบให้แก่ (สวทช.) จากผลงาน “ระบบบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มและปัญญาประดิษฐ์” หรือ ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ แชทบอทสุดฮิต ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเมือง โดยทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยและทีมงาน) โดยรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลการพัฒนาการให้บริการ ด้วยการนำนวัตกรรมที่เกิดจากการนำแนวคิด องค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลงาน/การให้บริการ กระบวนการ/ระบบบริการรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลงานที่แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากผลงานหรือกระบวนการก่อนหน้านี้
และ
3.รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริการ มอบให้แก่ (สวทช.) จาก ผลงาน “โครงการบูรณาการข้อมูลในการปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา (Water Hammer Flow Operation) โดยทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (DSS) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์ หัวหน้าทีมวิจัย) ร่วมกับ การประปานครหลวง กรมชลประทาน กองทัพเรือ สำนักงานทรัพยากรน้ำ โดยรางวัลดังกล่าวถือเป็นเป็นรางวัลการเพิ่มประสิทธิภาพหรือการเปลี่ยนแปลงการให้บริการที่เป็นผลมาจากความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และทำให้เกิดการให้บริการในรูปแบบดิจิทัล ที่ผู้รับบริการไม่ต้องไปขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สิทธิการใช้งานที่มีหน่วยงานเข้าร่วมตั้งแต่ 3 หน่วยงานขึ้นไป
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รู้สึกปลื้มใจกับรางวัลที่ได้รับถือเป็นกำลังใจให้คนทั้งองค์กร ซึ่ง (สวทช.) เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาระดับประเทศ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักค่านิยมองค์กร โดยเฉพาะการทำงานโดยยึดหลักของประเทศชาติเป็นส่วนแรก และยังคงยึดถือในการปฏิบัติงานเพื่อนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาชาติอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ (สวทช.) ในยุค 6.0 หรือผู้บริหารคนที่ 6 ตนมีแนวคิดจะขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อจะทำให้ (สวทช.) เป็นพลังหลักของประเทศในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐอื่นๆ เพื่อนำเอาปัญหาอุปสรรคของประชาชน ทั้งการไม่สามารถสร้างรายได้ การเสียดุลจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากเกินไป มาเป็นประเด็นเร่งด่วนในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเร่งด่วนอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่ง
ดังนั้น (สวทช.) ยุค 6.0 พร้อมจะขับเคลื่อนให้ทีมประเทศไทย ที่มีทุกภาคส่วนมาเติมเต็มระบบนิเวศ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อทำให้ทุกภาคส่วนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน