.
อดีตศาล รธน. วิเคราะห์วาระ 8 ปี ‘บิ๊กตู่’ ดึง ม.264 มาตีความไม่ได้ เหตุเป็นบทเฉพาะกาล-ข้อยกเว้น ชี้ต้องเริ่มนับจากปี’62
.
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการตีความวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป บทเฉพาะกาลถือเป็นข้อยกเว้นจากหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งในกรณีมาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ก็เช่นกัน เป็นข้อยกเว้นที่เขียนให้รัฐบาลที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นรัฐบาลโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้ไม่มีรอยแหว่ง ให้มีความต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นจะหาว่ารัฐบาลที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นรัฐบาลเถื่อน แต่ตั้งใครไปก็เป็นโมฆะ ใช้เงินก็เป็นโมฆะ ดังนั้นจึงต้องมีข้อยกเว้นเป็นบทเฉพาะกาลดังกล่าวไว้ เหมือนกับกฎหมายทุกฉบับ
.
“เมื่อบทเฉพาะกาลถือเป็นข้อยกเว้น ก็มีหลักว่าข้อยกเว้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งมาตรา 264 ก็ตีความเฉพาะว่ารัฐบาลมีความต่อเนื่องตีความแค่เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง จะเอาเรื่องนี้ไปใช้ด้วยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลัง ทั้งนี้รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะใช้เงื่อนไขทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคุณสมบัตินายกฯ คุณสมบัติรัฐมนตรี จะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งรัฐบาล วันที่ 9 มิ.ย.2562 ดังนั้นหากจะนับ 8 ปีก็จะต้องนับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ก็ให้เป็นให้เบื่อไปเลย แต่กติกาเป็นอย่างนี้”
.
อย่างไรก็ตาม กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประ ยุทธ์ จะเอามาเทียบเคียงกับกรณีของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ เพราะนายสิระ สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องใช้คุณสมบัติที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นจะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่อง
.
“เรื่องนี้จริงๆแล้วทุกคนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพียงแต่ตะแบง เพราะหลักกฎหมายทั่วไป บทเฉพาะกาลและข้อยกเว้นตามกฎหมายจะต้องตีความโดยเคร่งครัด หากใครลืมเอาปริญญานิติศาสตร์ไปคืนอาจารย์ได้ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ยากเลย แต่สุดท้ายไม่ว่าจะตัดสินว่าอย่างไร ก็โดนด่าทั้ง 2 ฝ่าย หากบอกว่าอยู่ต่อก็ถูกด่า บอกว่าไปก็ถูกด่า”
.
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 เพื่อประกอบการพิจารณา ว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นการลีลาหรือไม่ เพราะการจะตัดสินอะไรคงไม่ต้องไปถามคนร่างกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องตามไปถามคนร่างกฎหมายกันหมด ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดแล้ว ก็ต้องตีความกันอยู่ตรงนี้ จะไปเถียงอะไรกัน หรือการจะไปเอาผู้เชี่ยวชาญมาแสดงความคิดเห็นเดี๋ยวก็พูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็พูดอย่างนี้ เพราะความคิดเห็นของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปฟังความคิดเห็นคนร่างกฎหมายอะไรมาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้กฎหมาย คนเขียนกฎหมายไม่ได้เป็นคนใช้ ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้กฎหมายก็ต้องเป็นคนตีความเองว่าเขียนมาแบบนี้จะแปลความแบบไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย