ไม่ว่าจะเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล เด่นชัดยิ่งว่าได้ก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้วโดยสิ้นเชิง
เห็นได้จากการเคลื่อนไหวที่เชียงใหม่ สัมผัสได้จากการเคลื่อนไหวจากตึกอนาคตใหม่
อย่าว่าแต่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เลย แม้กระทั่งพรรคที่กำลังแจ้งเกิดอย่างพรรคสร้างอนาคตไทย พรรคไทยสร้างไทย ก็ปักใจเดินหน้าอย่างคึกคัก
แม้จะเห็นได้ในความพยายามอย่างเต็มเรี่ยวแรงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยืนยันแนวทาง ”ไปต่อ” กระนั้น ความจริงที่ ไม่ควรมองข้ามก็คือวาระแห่งสภาผู้แทนราษฎร
ในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเลือกตั้ง อย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ย่อมหมายถึงจุดสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2566
ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาในแบบใดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อถึงเดือนมีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องไปและต้องมีการตั้งต้นใหม่
กระบวนการของ ”การเลือกตั้ง” นั้นเองจะเป็นคำพิพากษาอัน เที่ยงธรรมที่สุดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จากสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564 มายังสถานการณ์เดือนกันยายน 2565 สังคมสัมผัสได้ในสภาวะแตกร้าวและร้าวลึกอย่าง เป็นธรรมจาก ”ภายใน” แห่งกลไก ”อำนาจรัฐ”
เริ่มจากการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากตำแหน่งสะท้อนความไม่พอใจที่มีต่อกันและกันเด่นชัด
พลันที่มีคำสั่ง ”พัก” การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สังคมก็รับรู้จากผลสะเทือนการรักษาการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ยิ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงอยู่ในสถานะรักษาการ ยาวนานเพียงใดและด้วยกัมมันตะเข้มมากเพียงใด ยิ่งสร้างจุดต่างภายในกระบวนการบริหารจัดการ
ทำให้ตัวเลือกมิได้มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น
การปลดปล่อยในทางการเมืองจึงบังเกิดไม่เพียงแต่จากพรรคสร้างอนาคตไทยเท่านั้น หากแม้กระทั่งจากพรรครวมไทยสร้างชาติอันเริ่มต้นในลักษณะของ ”นั่งร้าน” ทางการเมือง
เป็นการปลดปล่อยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นสภาวะแห่งการปลดปล่อยที่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล มองเห็นบทบาทและผลสะเทือนอย่างเป็นรูปธรรม
เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างหากที่ ”นับถอยหลัง”
รายงาน หนังสือพิมพ์ ๕ เหล่าทัพ