พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร ในท่ามกลางความโศกเศร้าที่ท่วมท้นสหราชอาณาจักร ซึ่งได้สูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เสด็จสวรรคตอย่างสงบในช่วงค่ำของวันที่ 8 กันยายน 2022 นั้น พระราชบัลลังก์อังกฤษได้สืบทอดไปยังประมุขพระองค์ใหม่โดยทันที โดยไม่ต้องมีพระราชพิธีใดๆ บีบีซีรายงาน
ประมุขพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อดีตเจ้าชายแห่งเวลส์
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งในทางปฏิบัติและทางราชประเพณี เพื่อจะทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองมงกุฎอิมพีเรียลสเตตอย่างเต็มพระองค์
กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 อาจทรงเลือกพระนามใหม่ขึ้นมาจาก 4 พระนามของพระองค์
ในเบื้องแรก พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรจะทรงถูกกล่าวขานพระนามว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แต่พระองค์ทรงสามารถที่จะเลือกพระนามหนึ่งใดก็ได้ในจำนวน 4 พระนามของพระองค์ ได้แก่ ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ
ส่วนสำหรับเจ้าฟ้าชายวิลเลียม ซึ่งกลายเป็น Prince Royal ตามพระอิสริยยศฐานันดรใหม่ของพระราชบิดานั้น พระองค์จะยังไม่ได้รับพระอิสริยยศแห่งเจ้าชายแห่งเวลส์โดยทันที เพราะพระอิสริยยศนี้ที่ล็อกให้แก่รัชทายาท จะต้องผ่านพระราชพิธีแต่งตั้งอย่างสง่างาม
พระอิสริยยศฐานันดรใหม่ของเจ้าฟ้าชายวิลเลียมที่จะทรงได้รับสืบทอดจากพระราชบิดาโดยอัตโนมัติ คือ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ขณะที่พระวรชายาแคเธอริน ก็จะได้รับพระอิสริยยศดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์โดยอัตโนมัติด้วย
ในด้านของพระวรราชชายาคามิลลาในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะได้รับพระอิสริยยศฐานันดรใหม่ คือ ควีนคอนสอร์ท หรือก็คือ พระราชินีคู่พระราชบัลลังก์ อันเป็นอิสริยยศฐานันดรสำหรับคู่สมรสแห่งพระมหากษัตริย์
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร สภาผู้ดำเนินการพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์มาประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นวันรุ่งขึ้น ในการประชุมนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเสด็จเข้าร่วม พร้อมด้วยปรีวีเคาน์ซิล
แต่จะไม่มี “การสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง” เหมือนดั่งการก้าวสู่อำนาจของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา หากจะเป็นการประกาศคำสาบานที่จะพิทักษ์รักษาพระศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นพระราชประเพณีโบราณนับแต่ศตวรรษที่ 18
หลังจากนั้น จะเป็นการประโคมแตร ต่อด้วยการประกาศต่อสาธารณชนว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยพระราชพิธีนี้จะประกอบขึ้นที่ประตูสีหบัญชรเหนือลานพระราชพิธีในพระราชวังเซนต์เจมส์ พร้อมกับการประกาศว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองพระมหากษัตริย์” ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับจากปี 1952 ที่เพลงชาติอังกฤษจะขับร้องด้วยคำว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองพระมหากษัตริย์”
การยิงสลุตหลวงถวายเป็นพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะมีขึ้นในหลายจุดสำคัญ ได้แก่ สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และเรือราชนาวี พร้อมนี้ จะมีการอ่านประกาศว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยจะประกาศทั่วกันในเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร พระราชพิธีในส่วนที่สำคัญที่สุดของการเสด็จขึ้นครองราชย์ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสวมมงกุฎพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากพระราชพิธีนี้จะต้องมีเวลาเตรียมการ จึงยังไม่แน่ชัดว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นเร็วเพียงใด ในคราวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงสืบพระราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1952 แต่ทรงสวมมงกุฎพระมหากษัตริย์ในอีกปีกว่าต่อมา คือในเดือนมิถุนายน 1953
ตลอดที่ผ่านมา 900 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นในโบสถ์เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 40 ซึ่งจะทรงสวมมงกุฎกษัตริย์ในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
ในพิธีบูชามิสซาของพระศาสนจักรแองกลิกัน อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะเป็นผู้ประกอบพิธี และจะเป็นผู้สวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตแห่งนักบุญเอดเวิร์ด ให้แก่กษัตริย์ชาร์ลส์ โดยมงกุฎอันทรงคุณค่าสูงล้ำมีอายุสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 1661 ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 2.23 กิโลกรัม แล้วพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะกล่าวคำสาบานต่อหน้าชาวโลกที่รับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นรัฐพิธี รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเป็นผู้กำหนดรายชื่อแขกรับเชิญ
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงเป็นประมุขแห่งเครือจักรภพ อันประกอบด้วยประเทศอิสระ 56 ประเทศ กับประชาชน 2,400 ล้านราย ทั้งนี้ 14 ประเทศแห่งเครือจักรภพ ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร จะมีพระองค์เป็นประมุขของประเทศ
14 ประเทศดังกล่าวนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย แอนติกัวและบาร์บิวดา บาฮามาส เบลีซ แคนาดา เกรเนดา จาไมกา ปาปัวนิวกีนี เซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ นิวซีแลนด์ หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู
(ที่มา: บีบีซี)
รายงานโดย สำนักงานหนังสือพิมพ์ ๕ เหล่าทัพ