เทียบ 8 ปี! “สามารถ” ย้อนยุค “ยิ่งลักษณ์” เข็น “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” สะท้อน “ชอบธรรม” กับ “ถูกต้อง” ไม่เหมือนกัน “สื่ออาวุโส” ชี้ “บิ๊กตู่” อยู่ได้ถึง 8 ปี เพราะอะไร “ผอ.ณัฐวุฒิ” โวลั่น “แลนด์สไลด์” แน่ เชื่ออีกฝ่ายตีไพ่โง่?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 ก.ย. 65) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดประชุมพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ขาดคุณสมบัติหรือไม่ อย่างไร ในปมแปดปีว่าครบกำหนดตั้งแต่ 24 สิงหา 2565 หรือไม่ ??
ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นที่สนใจของคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงไปต่างประเทศด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้จะพิจารณาแค่หลักรัฐศาสตร์หรือหลักนิติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ต้องพิจารณาร่วมกัน การจะโอนเอนไปทางใดทางหนึ่งนั้นอันตรายมากๆ
ผมจะขออนุญาตไม่ก้าวล่วงไปถึงคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะย้อนอดีตให้เห็นถึงความชอบธรรมกับความถูกต้องนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อจะให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้เล็งเห็นปัญหานี้ร่วมกัน
ถ้าพวกเราจำกันได้ช่วงปี พ.ศ. 2556 มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างปี 2547-2556 แต่การกระทำครั้งนั้นไม่เหมือน 23 ครั้ง ก่อนหน้าที่เคยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปก่อนหน้าแล้ว
ผมจะย้อนไป ช่วงเวลาในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเรียกประชุมด่วนนัดพิเศษในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ…. ในวาระที่สองในมาตราสองและสามในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ที่สภาได้เริ่มประชุมและหลังจากที่มีการประชุมอย่างยาวนานกว่า 19 ชั่วโมง ประธานสภาได้สั่งให้ลงมติในวาระที่สองและสามติดต่อกัน ในการลงคะแนนวาระที่สาม สมาชิกผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 งดออกเสียง4 จึงมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเวลา 4.25 นาฬิกา ทำให้เข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภาต่อไป
โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้รับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความไม่ชัดเจนและมีการสับขาหลอกที่เริ่มต้นจากร่างของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ที่เสนอให้นิรโทษกรรม เฉพาะการกระทำที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง หลังจากที่ผ่านการเห็นชอบรับหลักการของสภาฯ ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 แล้ว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาก่อนเข้าสู่สภาในวาระ 2 และ 3 และคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ให้เปลี่ยนไปใช้ร่างใหม่ของ นายประยุทธ ศิริพานิช รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่เรียกกันว่า “ฉบับเหมาเข่ง สุดซอย” แทน
เนื่องจากได้ขยายให้นิรโทษกรรมรวมไปถึงคดีทุจริตย้อนหลังไปถึงปี 2547 ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 กล่าวหา บางคดีได้รับการพิพากษาตัดสินไปแล้ว และอีกหลายคดี ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี
มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับสุดซอยเหมาเข่งเขียนเอาไว้ว่า “ให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้การกระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
การแก้ไขนี้เป็นสาเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์และคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง เพราะถือว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อช่วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
ผมจึงอยากจะอธิบายให้เห็นว่า การออกกฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร แต่เรื่องนี้สังคม เค้ามองว่า รู้เห็นเป็นใจกัน จึงมีม็อบออกมาต่อต้าน จนทำให้ไปสู่การปฏิวัติในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ทั้งที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไม่ได้เป็นคนเสนอร่างนี้เข้าสู่สภา แต่เป็นสมาชิกพรรคเดียวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ และผลได้ประโยชน์คือพี่ชายนางสาวยิ่งลักษณ์ นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านรับไม่ได้ จึงทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่สุดท้ายการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
จะเห็นได้ว่า ถ้าใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ต่อให้ถูกวิธีการถูกช่องทางก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกใจประชาชนและสุดท้ายก็จะเกิดความวุ่นวายและก็จะมีการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง นี่คือการเมืองในอดีต ผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก
ทุกวันนี้สื่อโซเชียลมีเดียรวดเร็ว พ่อแม่พี่น้องประชาชนเสพข้อมูลจากโซเชียล ดังนั้น เรื่องแปดปีนายกรัฐมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา จนชาวบ้านร้านตลาดเชื่อไปแล้ว จะไปเปลี่ยนความเชื่อเขาเหล่านั้นคงยาก”
ขณะเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือเต้น ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“ผมเชื่อว่า เอกสารคำชี้แจงทั้งของพล.อ.ประยุทธ์ และ นายมีชัย เป็นความจงใจปล่อยออกมา เรื่องนี้ทำสอดรับกันเป็นขบวนการ นายวิษณุเริ่มก่อนด้วยการบอกว่าอ่านคำชี้แจงของนายกฯแล้วฟังขึ้น จากนั้นเอกสารของนายมีชัย กับ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตามมา
3 คนนี้ช่วยกันตีไพ่ หวังให้ศาลรัฐธรรมนูญเก็บน็อกตามนั้น แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ขัดกันของนายมีชัย ซึ่งประชาชนจับได้ในรายงานการประชุม และข้อกฎหมายที่อ้างเอาแต่ได้ของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับยิ่งทำให้เรื่องนี้มัดตัวแน่นขึ้น ดิ้นยังไงก็ไม่หลุดจากความจริงว่า เป็นนายกฯมาแล้ว 8 ปี
ดูอาการทีมประยุทธ์มั่นใจว่ารอด โดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะไม่รอด เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไร้สำนึก ไม่พอ ไม่เสียสละ ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร
ถ้าประยุทธ์หยุดประเทศไทยจะได้ไปต่อ ถ้าประยุทธ์ไปต่อ เป้าหมายแลนสไลด์ของพรรคเพื่อไทยจะยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น เพราะยิ่งอยู่นาน ความเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จะกลายเป็นหัวคะแนนคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย รวมคะแนนเสียงให้แลนด์สไลด์เป็นกอบเป็นกำ”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่เรื่องการตีความตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ มันยุ่งยาก…
คือ ในตอนนั้นไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จะอยู่มาได้นานถึง 8 ปีเพียง “คนเดียว” ในตำแหน่งนายกฯ..
นอกจากฝีมือการทำงานของ พลเอก ประยุทธ์ จะเป็นที่พอใจของกองเชียร์กันแล้ว ปัจจัยแวดล้อมก็ช่วยให้พลเอกประยุทธ์อยู่ยาวมาเรื่อยๆจนครบ 8 ปีตามการนับเวลาด้วยปฏิทินและนาฬิกาปกติ
1. ลุงตู่มาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร 2557…
2. ตามเดิมนั้นรัฐบาลทหารจะอยู่ไม่นาน พอร่างรัฐธรรมนูญใหม่เรียบร้อยก็จะรีบเลือกตั้ง
3. แต่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดของคนไทยทั้งชาติขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2559
4. จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านรัชกาล..
5. พอถึงปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป…กลายเป็นว่าเกิดเหตุพลิกล็อคครั้งใหญ่ก่อนการเลือกตั้งเพียงสิบกว่าวัน ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและมีคะแนนสูงพอที่จะทำให้มีความชอบธรรมดำรงตำแหน่งโดยไม่ถูกโจมตี
6. ต่อมา..ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลลุงตู่จะอยู่ครบเทอม…แม้ความนิยมของรัฐบาลจะสูงในช่วงแรกๆ แต่โดยทั่วไปก็จะเริ่มลดลงเมื่อบริหารไปเรื่อยๆ
7. แต่ความนิยมของลุงตู่กลับโดดเด่นด้วยตัวเองมาอย่างเหนือความคาดหมาย
8. บวกกับเกิดกระแสการเมืองแนว “ปฏิปักษ์กับสถาบัน” รุนแรงขึ้นตามลำดับ…ทหารอย่างลุงตู่จึงเป็นที่พึ่งของฝ่ายจงรักภักดีและฝ่ายที่ไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองพลิกคว่ำทันทีทันใด
9. ทหาร กลายเป็นผู้มีบทบาท “เป็นฝายกันน้ำเชี่ยว” ชะลอความรุนแรงของการเมืองภายในประเทศให้ผ่านช่วงเวลารุนแรงของการเผชิญหน้ามาได้..
10. และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า …ไวรัสโควิด-19 …คือ ตัวแปรใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลลุงตู่ต้องยืนหยัดแก้ไขปัญหาจนสามารถฝ่าวิกฤติมาได้ด้วยฝีมือที่มีผลงานระดับโลก..
11. ประกอบกับฝ่ายค้านและฝ่ายอื่นๆยังไม่สามารถมีผลงานโดดเด่นพอจะมาแทนรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์..
12. เวลา 8 ปี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงมาถึงอย่างเหนือความคาดหมาย..
13. บรรดานักการเมือง นักกฎหมาย จึงปั่นป่วนวุ่นวายตีความกันจ้าละหวั่นว่า ครบ 8 ปีหรือยัง
14. ทั้งหลายทั้งมวลจึงไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ…อันเป็นสถานที่สุดท้ายในการตัดสินความเห็นต่างที่มากมายในเวลานี้
15. แต่อย่างไรก็ตาม…ผลงานของ พลเอก ประยุทธ์ และทุกคนทั้งเอกชน ราชการ ประชาชนที่ร่วมกันบริหารประเทศผ่านวิกฤตต่างๆ มาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้วนั้น..มันเป็น “อินฟินิตี้” ไปแล้วด้วยความหมายในตัวของมันเอง.”
แน่นอน, ทุกประเด็นล้วนน่าคิด เพราะมีความเป็นเหตุเป็นผล
ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า การออกมาชี้นำทางสังคมของ “ทั้งสองฝ่าย” ในการตีความ “8 ปี” พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนต้องการให้สังคมเชื่อตามที่ฝ่ายตัวเองต้องการให้เป็นเช่นนั้น จึงทำให้ในเวลานี้ กระแสสังคม ได้ตัดสิน “8 ปี พล.อ.ประยุทธ์” ไปก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้ว
บางทีการเมืองไทย ก็ทำในสิ่งที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ไม่มีความหมายได้เช่นกัน? และบางครั้งการทำผิดให้เป็นถูกเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ก็มีให้เห็นมาแล้ว หรือเลือกที่จะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในกรณีที่ตัวเองได้ประโยชน์ รวมทั้งเกมแสวงหาอำนาจ ที่อ้างประชาชน ประชาธิปไตย ฯลฯ
กรณี “8 ปี พล.อ.ประยุทธ์” จึงนับว่าท้าทายต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จนน่าจับตาหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องจะจบได้จริงหรือไม่!? เพราะคนบางส่วนเชื่อและถูกทำให้เชื่อไปแล้วว่า “8 ปี พล.อ.ประยุทธ์” ครบแล้ว
ขอบคุณ : ผู้จัดการออนไลน์
รายงาน สำนักงานหนังสือพิมพ์ ๕ เหล่าทัพ