(5 ก.ย.65 )ตามที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เข้าพบพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งชื่อนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา (สว.)หรือ สว.คนใดเกี่ยวพันกับกรณี ส.ต.ท.หญิง และฝ่าฝืนข้อบังคับประมวลจริยธรรมหรือไม่ และต่อมาคณะกรรมการฯ ได้เชิญนายวัชระเข้าร่วมประชุมในวันนี้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนเมื่อเวลา 11.20 น. ที่ห้องประชุม 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา
นายวัชระ กล่าวว่า ได้มอบเอกสารให้คณะกรรมการฯ สอบสวนประเด็นต่าง ๆ เพื่อพิจารณาว่านายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใด กระทำการหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับกรณี ส.ต.ท.หญิง หรือไม่ ดังต่อไปนี้
1.ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นผู้ช่วยหรือตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ที่ปรึกษา นักวิชาการ ฯลฯ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนใดตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และสมาชิกวุฒิสภาคนใดตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทนเท่าใด
2.การเสนอหรือสนับสนุนการแต่งตั้งส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการ (เพิ่มเติม) ตามคำสั่งคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ 3/2561 ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยขอให้เรียกบันทึกข้อความที่มีการเสนอแต่งตั้งว่ามีบุคคลใดเป็นผู้เสนอ และผ่านการพิจารณาหรือสอบทานจากใคร อย่างไร และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวมาสอบถามเหตุผล ความจำเป็น ใครเป็นผู้ชักนำให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา นักวิชาการ ในวงงานรัฐสภา
3.เมื่อส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ได้รับการแต่งตั้ง มีสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรได้รับอย่างไรตามกฎหมายหรือระเบียบ เช่น เงินเดือน เบี้ยประชุม เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น และเคยมาร่วมประชุมบ้างหรือไม่ เมื่อใด กี่ครั้ง
4.การเสนอชื่อส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการ (เพิ่มเติม) มีความจำเป็นเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้จบปริญญาตรีกฎหมาย แต่จบ ปวส.ด้านการบัญชี เนื่องจากที่ผ่านมาการเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาจะประกอบด้วยบุคคลสำคัญ เช่น อดีตอัยการสูงสุด พล.ต.อ. พล.อ. เป็นต้น
5.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ มีหลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อที่ปรึกษาหรือนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการหรือไม่ และการเสนอชื่อส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร มีที่มาที่ไปในการเสนอชื่ออย่างไร บุคคลใดเป็นผู้เสนอ
6.ขอให้เรียกหลักฐานการประชุม การเซ็นชื่อรับเงิน การจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาให้กับส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นจำนวนเงินเท่าใด จ่ายตั้งแต่เมื่อใด และเข้าบัญชีผู้รับเงินหรือไม่ อย่างไร ใครได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ได้เซ็นชื่อรับเงินด้วยตนเองหรือไม่ หรือมอบอำนาจให้ใครรับเงินแทน
7.ขอให้เชิญบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่ายที่ถ่ายรูปร่วมกับนายธานี และ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่าถ่ายรูปที่ไหน เมื่อใด งานอะไร งานนั้นเกี่ยวข้องกับ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ อย่างไร
8.ขอให้เชิญบุคคลที่ทำบันทึกข้อความเสนอแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม เข้ารับราชการตำรวจตั้งแต่ต้น มาสอบถามถึงสาเหตุการเสนอแต่งตั้งว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างไร หากขาดแคลนตำรวจด้านบัญชีที่ผ่านมามีการประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อสอบแข่งขันก่อนหรือไม่ หรือไม่มีใครสนใจมาสมัครสอบแข่งขันจึงต้องเสนอนางสาวกรศศิร์ บัวแย้ม บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจโดยการขอยกเว้นหลักเกณฑ์ทั่วไป และมีการทำลักษณะแบบนี้กับบุคคลใดบ้าง ให้ผู้ทำบันทึกเสนอชี้แจง และภายหลังการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจเนื่องจากขาดแคลนตำรวจด้านบัญชี เหตุใดจึงให้ไปช่วยราชการหน่วยงานอื่นซึ่งไม่ตรงกับที่การขอยกเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าว
9.บุคคลใดเสนอและอนุมัติให้ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน. ภาคใต้ และได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เช่น เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน วันราชการทวีคูณ เป็นต้น รวมเป็นเงินที่งบประมาณที่เบิกจ่ายให้กับบุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นเท่าใด มีหลักเกณฑ์และหลักฐานการจ่ายเงินอย่างไร ใครเป็นผู้กำกับดูแลและอนุมัติการจ่ายเงินในเมื่อส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ไม่ได้ไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้แต่อยู่ที่จังหวัดราชบุรี ขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่การเงิน กอ.รมน. ที่มีอำนาจหน้าที่วางฎีกาเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวมีกระบวนการสอบทานเอกสารสำคัญอย่างไร
10.ขอใบอนุโมทนาบัตรที่วัดออกให้จากกรณีนายธานี และ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บริจาคเงินจำนวน 120,000 บาท ให้ถามนายธานีว่าเป็นเงินใคร และขอเอกสารแบบยื่นชำระภาษีในปีภาษีที่บริจาคเงินของบุคคลทั้งสองเพื่อทราบว่าใครเป็นผู้นำใบอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษี
11.กรณีวุฒิการศึกษาขอให้สอบถามนักศึกษาในปีการศึกษาเดียวกันว่าส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้ไปเรียนหรือไม่ อย่างไร และกรณีเงิน 50,000 บาทที่มอบให้มหาวิทยาลัยเอกชนโดยอ้างว่าซื้อวุฒิการศึกษาให้สอบมหาวิทยาลัยถึงใบเสร็จรับเงินจำนวน 50,000 บาท
12.กรณีการบรรจุเข้าทำงานทุกตำแหน่ง ตรวจสอบหลักเกณฑ์การสมัคร การรับรอง ผู้รับรอง ใบคะแนน ผลการคัดเลือก
13.นายธานี รู้จักกับส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร ใครแนะนำหรือไม่ หากรู้จักกันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เคยช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช่น หางานหรืออาชีพให้ทำหรือไม่ แนะนำให้รู้จักกับใครบ้างเพื่ออะไร ฝากเข้ารับราชการจริงหรือไม่ กับสมาชิกวุฒิสภาคนอื่น ๆ มีความสนิทสนมหรือไม่ และมีผู้ใดฝากส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กับพลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ อย่างไร
14.ให้เช็คหมายเลขโทรศัพท์ระหว่างส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ กับสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน
15.เพื่อฟังความทุกฝ่ายอย่างรอบด้านและกระจ่างแจ้งอย่างเป็นธรรม ขอเสนอให้เชิญส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ และ ส.ต.หญิง (ทหาร) มาให้การต่อคณะกรรมการฯ ด้วย
ทั้งนี้ หากผลสอบสวนประเด็นดังกล่าวแล้วพบว่านายธานีหรือสว.คนใดกระทำการหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับกรณี ส.ต.ท.หญิง ก็จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 , 8, 9 ข้อ 12 , 13 ข้อ 18 ข้อ 20 ข้อ 22 ข้อ 30 ข้อ 32 ข้อ 35 ข้อ 36 หรือไม่ อนึ่ง ขอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครอง ส.ต.หญิง คู่กรณีของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ด้วย
นอกจากนี้นายวัชระได้ชี้ช่องให้คกก.จริยธรรมสอบถามหรือหาภาพถ่ายพิธียกน้ำชาหรือรินน้ำชาที่มีการจัดขึ้นระหว่างสว.คนหนึ่งกับส.ต.ท.ท่านนั้นว่ามีจริงหรือไม่ ซึ่งพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช เห็นว่านอกประเด็น ส่วนนายสังคิต พิริยะรังสรรค์ ถามว่าพิธีดังกล่าวจัดแบบจีนหรือแบบราชบุรี นายวัชระตอบว่าไม่ทราบว่าแบบจีนหรือราชบุรีเพราะไม่เคยจัด พร้อมกับสรุปว่าไม่ได้กล่าวหาว่าสว.คนใดผิด แต่มาร้องเรียนพร้อมยื่นหนังสือประกอบการร้องเรียนในห้องประชุมกับประธานตามความต้องการของประชาชน และให้คกก.จริยธรรมเป็นผู้ตัดสินในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับวุฒิสภา ทั้งนี้คกก.ไม่อนุญาตให้นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสว. ที่ปรึกษากฎหมายเข้าประชุมด้วย