กฤษฎา บุญราช
ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ตัวผมไม่ได้เสนอขอเรื่องนี้โดยตรงตั้งแต่แรก เพียงแต่ขอให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ในการลงไปดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างเช่นตอนนี้หากสังคมดูคือเรื่องการอำนวยความสะดวก พาพี่น้องประชาชนเดินทางมาสักการะพระบรมศพ การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวก็มีการมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ นอกจากนี้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกโดยกระทรวงการคลัง เช่น โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท หรือโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ก็ใช้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในการทำแผนงานหรือเสนอโครงการ
ที่ผ่านมา เรื่องรัฐธรรมนูญเอง เมื่อจะมีการทำประชามติก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอลงพื้นที่เผยแพร่ และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนพร้อมทั้งต้องช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดคูหาอำนวยความสะดวกในวันลงประชามติด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงหลังๆ มานี้ งานไปลงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมาก หรือกรณีมีชาวบ้านมาแต่งตัวนุ่งกระโจมอกอาบน้ำกลางถนนเป็นการประชดสังคมก็มีการมอบหมายให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอต้องคอยไปดูแลแก้ไขอย่าให้เกิดปัญหาเหล่านั้นในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
แต่การจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอลงไปทำงานด้วยมือเปล่าๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ ผมจึงเสนอโครงการให้มีแผนพัฒนาจังหวัดขึ้นมาเพื่อให้เป็นกลไกให้ส่วนราชการทุกส่วนจะต้องยึดเอาแผนพัฒนาจังหวัดเป็นแผนที่นำทางในการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการทุกส่วนที่อยู่ในจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ส่วนเรื่องอำนาจสอบสวนตามกฎหมายอาญานั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก เราเพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาประชาชนที่มาร้องเรียนอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดหรือจะอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงทีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ได้ระบุไว้ว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีหน้าที่นำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติในพื้นที่ และหากงานใดไม่มีผู้รับผิดชอบ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ รัฐบาลจึงใช้ช่องทางนี้เพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ มาโดยตลอด
ยุทธพร อิสรชัย
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่องของอำนาจสอบสวนของฝ่ายปกครอง มีอยู่ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของฝ่ายปกครอง แต่ด้วยเหตุผลจากบริบททางการเมืองและอื่นๆ จึงได้มีการถ่ายโอนอำนาจส่วนนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงแค่ข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับตำรวจแค่นั้น โดยหลักการในกฎหมายก็ยังคงให้ฝ่ายปกครอง ดังนั้นการเสนอตรงนี้ก็เพื่อจะเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ข้อตกลง ไม่ได้เปลี่ยนอะไรในหลักของกฎหมาย การจะดำเนินการตรงนี้เหมือนเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรมได้ดีพอสมควรเลย เพราะที่ผ่านมามีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากว่าการให้อำนาจตำรวจ ทั้งจับกุม และทำการสอบสวน เป็นการรวมอำนาจไว้ที่ตำรวจทั้งหมด พอรวมอำนาจไว้ที่ตำรวจทั้งหมด ท้ายที่สุดเมื่อตำรวจสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็เห็นเพียงแค่สำนวนที่ตำรวจทำมา รวมไปถึงถ้าไปสู่ชั้นศาล ศาลก็จะเห็นเพียงแค่สำนวนในกระดาษเท่านั้น
ดังนั้นก็เลยทำให้ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง เหมือนที่หลายคนบอกว่าถ้าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมคือ ตั้งแต่การจับกุมและสอบสวน วันนี้พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่จะมีคดีบางประเภทเท่านั้นใช้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เช่น คดีเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ หรือสถานบันเทิง เป็นต้น
ถ้าจะโอนบรรดาคดีความอาญาทั้งหมดไปให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ผมก็เห็นด้วย แต่ประเด็นคือเมื่อโอนมาแล้วต้องทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน หากโอนมาแล้วทุกอย่างยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม ก็ไม่มีประโยชน์อะไรจะโอนมา เท่ากับว่าแค่เปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบเท่านั้น แต่วันนี้ถ้าโอนมาสู่ฝ่ายปกครองในการทำหน้าที่ตรงนี้ ก็หมายความว่าฝ่ายปกครองจะต้องมีความพร้อมในเชิงของความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เพราะว่าฝ่ายปกครองส่วนใหญ่จะจบทางด้านรัฐศาสตร์กันมาก รวมถึงต้องมีความโปร่งใสในขั้นตอนการสอบสวน ทำให้เห็นว่าเมื่อมาอยู่กับฝ่ายปกครองแล้วต่างจากตำรวจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รู้สึกเป็นห่วงคือระบบการทำงานของฝ่ายปกครอง อาจจะไม่มีความชำนาญในเรื่องเหล่านี้ เพราะเดิมไม่ได้ทำเรื่องเหล่านี้มาเป็นระยะเวลานาน และความโปร่งใส เพราะระบบอุปถัมภ์ต่างๆ ในสายปกครองมีสูงมาก มักจะเห็นในช่วงของการแต่งตั้งโยกย้าย สิ่งเหล่านี้เกรงว่าอาจทำให้ความยุติธรรมเบี่ยงเบนไป เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้ความยุติธรรมเกิดกับประชาชน ฝ่ายปกครองต้องทำให้เห็นว่าจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างไร ดีขึ้นกว่าตำรวจอย่างไร ก่อนถ่ายโอนควรจะให้สังคมได้รับทราบตรงนี้เสียก่อน
เรือโทสมนึก เสียงก้อง
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
การเสนอให้มีการทบทวนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับอำนาจในการสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้มีการสอบสวนคดีที่ประชาชนเดือดร้อน ร้องขอความเป็นธรรม เช่น เรื่องเกี่ยวกับทรัพยากร คงเป็นเรื่องที่พนักงานฝ่ายปกครองมองเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดทุกบ์บำรุงสุขประชาชนให้ดีขึ้นเรื่อง อำนาจสอบสวนเป็นอำนาจที่ฝ่ายปกครองมีอยู่แล้วหลายเรื่องในปัจจุบัน ตาม พ.ร.บ.ต่างๆ หรือกฎกระทรวงที่กำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนในบางคดี เช่น พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ หรือคดีที่เกี่ยวกับกับบัตรประชาชน หรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือสถานประกอบการบันเทิงก็ได้ให้อำนาจกับพนักงานปกครองไว้
เข้าใจว่าที่ฝ่ายปกครองมีการเสนอตรงนี้เพราะอาจจะอยากกลับเข้ามาดูแลตรงเรื่องของทรัพยากรให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ส่วนหากมีการแก้ไขแล้วจะเกิดประโยชน์หรือผลดีกับประชาชนหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้ แต่ถ้ามีการเสนอการแก้ไขก็น่าจะเป็นมุ่งหวังให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน
ก็ต้องดูบางทีกฎหมายออกมาดีแต่ผู้ปฏิบัติทำไม่ตรงกับเจตนาก็ไม่สอดคล้องกัน การจะทำให้เกิดผลดีต้องประกอบทั้งผู้ปฏิบัติและตัวกฎหมายที่ดีด้วย รายละเอียดยังไม่รู้ว่าจะเสนอปรับตัวไหนบ้างทราบ แต่ว่าเป็นการเสนอในที่ประชุมตรวจเยี่ยมงานจึงบอกไม่ได้ว่าจะดีหรือไม่ดี
พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา
รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ได้ฟังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ว่าให้หน่วยที่เกี่ยวข้องไปหารือกัน ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนหลัก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็พร้อมจะหารือ หาจุดร่วมในการทำงานสอบสวน อำนวยความยุติธรรมร่วมกัน โดยหลักสำคัญคือ รัฐและประชาชนต้องได้รับประโยชน์ ได้รับการอำนวยความยุติธรรมถึงที่สุด สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ติดขัดหรือเกี่ยงงอน แต่เรื่องนี้ต้องคุย หารือในรายละเอียดให้ดี หากทำแล้วต้องประสานงานร่วมกัน มีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจนว่าใครมีอำนาจ หน้าที่อย่างไร เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมมีประสิทธิภาพที่สุด จะทำให้การทำงานสอบสวนโดยรวมดีขึ้นหรือไม่ตนยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ แต่ย้ำว่าหากมีการปรับหรือเพิ่มเติมอะไร เป้าหมาย ผลลัพธ์คือประเทศชาติและประชาชนผู้สุจริตได้ประโยชน์
ในส่วนของพนักงานสอบสวนตำรวจนั้นเราตระหนักในหน้าที่ผดุงความยุติธรรม โดยหลักแล้วทุกคนรู้หน้าที่ บทบาทของตน และส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่ได้ดี เต็มความสามารถตามบทบาทหน้าที่ แต่เป็นธรรมดาที่ทุกองค์กรมีในข้าวสารเม็ดสวย 100 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะมีข้าวเสียเล็กน้อยปะปน แต่เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เรื่องจะเหมารวมพนักงานสอบสวนทั้งหมด